จากการที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมมาตรการพยุงภาวะเศรษฐกิจช่วง 2-3 เดือนก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อ เพื่อรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงมาก เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง จึงไม่ต้องการให้การลงทุนและการบริโภคหยุดนิ่ง โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ที่ก่อนหน้านี้เคยใช้ได้ผลมาแล้ว ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% เหลือ 0.01%,  ค่าจดทะเบียนการจำนอง จาก 1% เหลือ 0.01% และการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ จาก 3.3% เหลือ 0.11% โดยจะออกมาเป็นแพ็กเกจมาตรการ ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้  ซึ่งจากการสอบถามความคิดเห็นจาก 3 นายกสมาคมอสังหาฯ ต่างแสดงความคิดเห็นดังต่อไปนี้
รัฐบาลหารือ 3 สมาคมฯ ก่อนสั่งการออกแพ็กเกจมาตรการ
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทาง 3 สมาคมในการจัดแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ นั้น ซึ่งทั้ง 3 สมาคมต่างมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาล ซึ่งมาตรการดังกล่าวข้างต้นได้เคยพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นประโยชน์และได้ผลต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ ประกอบการรัฐบาลเองก็พยายามพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัว เพราะมองว่าเศรษฐกิจโลกและการเมือง จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างแน่นอน จึงต้องออกมาตรการดังกล่าวออกมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ส่วนการที่จะให้ลดภาษีสำหรับภาคอสังหาฯ ในระยะยาวคงต้องรอนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
สำหรับมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value: LTV) ก็ได้เจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการช่วยประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคที่ไม่ได้รับผล
กระทบจากมาตรการ LTV ให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบต่างมีความเข้าใจว่าได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV
ยักษ์อสังหาฯ รับอานิสงส์เปิดโครงการได้มากขึ้น
ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะทำให้ในภาพรวมยอดขายของผู้ประกอบการดีขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะได้รับอานิสงส์ดังกล่าว จะทำให้สามารถเปิดตัวโครงการใหม่ได้มากขึ้น จากที่เคยได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV มา ส่วนผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็กไม่ค่อยมีผลมาก เพราะไม่สามารถเปิดขายโครงการได้มากเท่าผู้ประกอบการรายใหญ่อยู่แล้ว
ทั้งนี้ต้องให้ระยะเวลาในการให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อด้วย ซึ่งอย่างช้าต้องใช้ระยะเวลาไม่เกินปลายปี 2562 นี้ แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรมีระระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งตนยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ คงต้องให้ภาครัฐมีโนบายที่ชัดเจนออกมาเสียก่อน
“การที่จะให้รัฐบาลลดมาตรการภาษีอสังหาฯ อย่างถาวรคงทำไม่ได้ แม้ว่าจะสั่งการโดยรัฐบาล แต่งบประมาณแผ่นดินเป็นของกระทรวงมหาดไทย จะกระทบภาษีที่เก็บได้ เปรียบเสมือน “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” คือฝ่ายบริหารอยากให้เหยียบคันเร่ง แต่ฝ่ายปฏิบัติการก็ไม่อยากให้เสี่ยง เพราะเห็นว่าเพียงพอแล้ว” นายพรนริศ กล่าว

เตรียมหารือ3สมาคมยื่นข้อเสนอรัฐบาล

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตมาแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ก็มีแนวทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเป็นผลดีต่อผู้บริโภค และมาตรการนี้คงเป็นการนำมาใช้เป็นช่วงระยะเวลาเฉพาะรัฐบาลนี้เท่านั้น ในช่วงเวลาที่บริหารประเทศอยู่ คงไม่สามารถใช้ระยะยาวได้ เพราะเรื่องการลดหย่อนภาษี จะเป็นงานเฉพาะกิจของแต่ละรัฐบาล  เพื่อประคับประคองไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย  อาจจะยืดระยะเวลาได้ประมาณ 1 ปี ถือว่ารัฐบาลได้ดำเนินการถูกต้องแล้ว  และประเด็นดังกล่าวทาง3 สมาคมอสังหาฯจะนัดหารือเพื่อนำเสนอผลการประชุมต่อรัฐบาลในลำดับถัดไปด้วย