ครม.มีมติอุ้มอสังหาฯดันศก.ระบายSupply บ้านทั่วประเทศกว่า 6 แสนล้านบาท ด้านนายกสมาคมบ้านจัดสรร “วสันต์ เคียงศิริ” อัดรัฐแก้ปัญหาปลายเหตุไม่ถูกจุด

 

วันนี้ (30 เมษายน 2562 )ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562  ซึ่งรัฐบาลคาดว่ามาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปีดังกล่าวจะกระตุ้น GDP ในปี 2562 ให้เพิ่มขึ้น 0.1% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8% โดยหนึ่งในหลายมาตรการที่ประกาศออกมานั้นก็คือ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจะลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 (30 เม.ย.- 31 ธ.ค.2562)ทั้งนี้จะต้องเป็นบ้านหลังแรก และต้องโอนกรรมสิทธิ์ภายในสิ้นปี 2562

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์(REIC) กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทและเป็นบ้านหลังแรก เพราะเป็นฐานระดับราคาขายของตลาดที่อยู่อาศัยที่มีปริมาณมากที่สุด

ณ สิ้นปี 2561 มี Supplyที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูง(คอนโดฯ)เหลือขายทั่วประเทศประมาณ 217,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท (ลบ.)แบ่งเป็น

  • ที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบกว่า 138,000 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 400,000 ล้านบาท
  • ที่อยู่อาศัยประเภทแนวสูงกว่า 70,000 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 198,000 ล้านบาทล

ในจำนวน Supply ที่อยู่อาศัยที่เหลือขายทั้งหมด ณ สิ้นปี 2561 นั้น ยู่ในเขตุกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวนกว่า 121,000 ยูนิต รวมมูลค่ากว่า 337,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ที่อยู่อาศัยแนวราบกว่า 65,000 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาท
  • ที่อยู่อาศัยแนวสูงกว่า 56,000 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า137,000 ล้านบาท

“มาตรการที่ออกมาผมว่าน่าจะช่วยระบายสต๊อกบ้านหรือคอนโดฯที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่มีอยู่ในมือของผู้ประกอบการได้มาก หรือบ้านที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้ ”ดร.วิชัย กล่าว พร้อมกับระบุว่า มาตรการนี้น่าจะส่งผลดีทั้งตลาดบ้านใหม่และบ้านมือสอง และคาดว่าน่าจะช่วยให้มีการซื้อขายเพิ่มขึ้น 10-20 %

พร้อมกันนี้ ดร.วิชัย ยังกล่าวให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลดีต่อภาพโดยรวมของเศรษฐกิจและธุรกิรวมถึงผู้บริโภค ส่วนที่ไม่มีการออกมาตรการลดหย่อนด้าน ค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองนั้น มองว่าปัจจุบันผู้ประกอบการได้กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ด้วยการออกค่าใช้จ่าย 50% หรือจ่ายคนละครึ่งกับลูกค้าอยู่แล้ว

สมาคมบ้านจัดสรรอัดรัฐแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

ด้านนายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับประชาชนที่ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 200,000 บาท ถือว่าช่วยสนับสนุนผู้ซื้อบ้านได้อีกช่องทางหนึ่ง แต่มองว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เพราะการหักลดหย่อนภาษี ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆของการซื้อบ้าน  กล่าวคือ สิ่งสำคัญของการซื้อบ้าน  คือ สินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากอยู่แล้ว ประกอบกับมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value:LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562  ซึ่งระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าตลาดชะลอตัว  เพราะถือเป็นเรื่องปกติที่เมื่อเกิดการเร่งโอนก่อนมาตรการบังคับใช้มาตรการLTV  ตลาดจะชะลอตัว ซึ่งเชื่อว่าการชะลอตัวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะตลาด และภาวะเศรษฐกิจไม่เหมาะสมที่จะออกมาตรการใดๆมาควบคุม แต่ควรเป็นมาตรการกระตุ้นมากกว่า

“ซื้อบ้านได้ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 200,000 บาท ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีของภาคอสังหาฯ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะหากแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ก็ไม่สามารถซื้อบ้านได้ นอกจากนี้ การนับรวมผู้กู้ร่วมให้เป็นสัญญาที่ 1 จะทำให้ไม่มีใครอยากกู้ร่วมด้วย เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการซื้อบ้านของตนเอง” นายวสันต์ กล่าวในที่สุด

** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม >>มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 แถลงข่าวมาตรการพยุง-ศก-ในช่วงกลางปี-62-เมย