“แบงก์ชาติ “ เผยจะยังไม่มีการใช้มาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (DSR limit) ภายในปี 2562 นี้ พร้อมจะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)หรือ แบงก์ชาติ  เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธปท. ได้ออกมาตรการในหลายส่วนเพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน และมีกระแสข่าวว่า ธปท. อาจมีมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด หรือ debt service ratio (DSR) limit เพิ่มเติม ขอชี้แจงว่า ปัจจุบัน ธปท. ยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ภายในปีนี้

ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินใน 2 เรื่อง ได้แก่

  • การกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณ DSR ทั้งในส่วนภาระหนี้และรายได้ของผู้กู้ ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน โดยล่าสุดได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลาง DSR ร่วมกันแล้ว คาดว่าจะเริ่มรายงานข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางให้ ธปท. ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2562 นี้
  • การผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ไปใช้ โดยลูกหนี้ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้แล้ว (affordability)

ธปท. จะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งผ่านข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางที่ธนาคารพาณิชย์รายงาน ซึ่งหากพบว่าสถานการณ์มีความเปราะบางมากขึ้น ธปท. อาจพิจารณาออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน กรอบการบังคับใช้และจังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ตามที่ สศช. เปิดเผยว่า ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ที่ระดับ 13 ล้านล้านบาท นั้นซึ่งเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นประเด็นที่ ธปท. แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง เพราะหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางและการขาดภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ (income shock) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ แม้มาตรการที่ ธปท. ออกในช่วงก่อนหน้า เช่น มาตรการ LTV จะส่งผลดีทำให้การก่อหนี้ในหมวดดังกล่าวชะลอลง แต่ยังคงต้องติดตามภาวะหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความสามารถในการรองรับ income shock ของภาคครัวเรือนในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอลง

สำหรับกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม ที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 0.52% นั้น จากรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2562 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 อยู่ที่ 1% อย่างไรก็ดี ข้อมูลจริงในระยะหลัง (มิ.ย.-ส.ค.) ที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะในหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ทำให้มีโอกาสที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2562 กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จึงมีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% (จาก 1.75% เป็น 1.50%) ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย อีกทั้งภายในทุกสิ้นปี กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะหารือร่วมกันถึงเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประกาศใช้ในปีถัดไป

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*