แม้โดยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังพบว่ามีสามธุรกิจที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ได้รับความสนใจมีแนวโน้มเติบโต นั้นคือ อสังหาริมทรัพย์ภาคอุตสาหกรรม , ธุรกิจโรงพยาบาล และ ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ โดยดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ประธานกรรมการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เป็นเสมือนตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่โครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองคืบหน้าเป็นรูปธรรม

“ นิคมอุตสาหกรรม”ที่ยังมีศักยภาพหรือมีที่ดินเหลือต่างเร่งพัฒนาพื้นที่ภายในของตนเองเพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติกันมากขึ้น ประกอบกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศคือ สหรัฐอเมริกา และจีน ยิ่งเป็นอีกปัจจัยกดดันให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ประเทศนี้จำเป็นต้องหาช่องทางในการลงทุนเพื่อตั้งโรงงานผลิตสินค้าในประเทศอื่นๆ มากขึ้น แม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ประเทศเป้าหมายอันดับที่หนึ่งของพวกเขา แต่ก็มีบริษัทต่างชาติจำนวนไม่น้อยเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น  โดยเฉพาะบริษัทที่มีโรงงานใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการผลิต

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีผลให้ตลาดนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกขยายตัวต่อเนื่อง มีการขยายพื้นที่และซื้อที่ดินใหม่กันมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงก่อนที่ผังเมืองของ EEC จะมีผลบังคับใช้เพื่อที่จะได้มีพื้นที่อุตสาหกรรมสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ระบุในผังเมือง EEC ไม่เพียงแต่นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้นที่มีการขยายตัว แต่คลังสินค้าหรือโลจิสติกส์พาร์คเองก็เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมมีผู้เล่นรายใหญ่และหน้าใหม่ที่เข้ามาลงทุนธุรกิจการรับ-ส่งพัสดุในประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงการขยายตัวของธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีผลโดยตรงต่อธุรกิจรับ-ส่งพัสดุในประเทศไทย บริษัทต่างชาติที่ให้บริการด้านรับ-ส่งพัสดุเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น คลังสินค้าหรือโลจิสติกส์พาร์คสมัยใหม่ในพื้นที่ตามแนวถนนบางนา-ตราด พหลโยธิน พระราม 2 มีเกิดขึ้นให้เห็นต่อเนื่องในช่วง 2 – 3 ปีที่ผานมาและคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องไปทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งการที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้นมีผลต่อเนื่องไปยังตลาดที่อยู่อาศัยและพื้นที่ค้าปลีกในพื้นที่โดยรอบที่ขยายตัวมากขึ้นตามไปด้วย

ไล่ซื้อกิจการควบรวมธุรกิจ โรงพยาบาล”มาแรงต่อเนื่อง

ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชนที่มีการขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยโรงพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนประมาณ 54% ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมดในประเทศไทย 641 แห่งซึ่งสัดส่วนที่มากกว่าของโรงพยาบาลเอกชนแสดงให้เห็นว่าธุรกิจโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าสนใจจนภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและให้บริการโรงพยาบาลเอกชนกันมากแบบที่เห็น

นอกจากนี้ ยังมีการไล่ซื้อกิจการหรือควบรวมกิจการกันต่อเนื่องเช่นกัน เพราะธุรกิจโรงพยาบาลยังมีช่องว่างให้สามารถขยายตัวต่อไปได้ในอนาคตทั้งจากผู้ใช้บริการชาวไทยและชาวต่างชาติ กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนหลายรายมีเครือข่ายหรือว่าการบริการในต่างประเทศโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง และในอาเซียน เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจากตะวันออกกลางและอาเซียน เช่น ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อาหรับเอมิเรตส์ เมียนมา และญี่ปุ่น

ทั้งนี้ แม้ว่าสัดส่วนของผู้ใช้บริการชาวต่างชาติจะมีประมาณ 7% ของจำนวนผู้ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดประมาณ 62 ล้านคนและส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการชาวต่างชาติเป็นกลุ่มที่มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปและนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Tourist & Medical tourist) มากถึง 80% สร้างรายได้ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทในปี 2561 มากกว่าปีก่อนหน้านี้ 18% โดยหนึ่งในเหตุผลที่โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติคือ โรงพยาบาลเอกชนจำนวนกว่า 66 แห่งในประเทศไทยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากลจาก Joint Commission International Accreditation (JCI) ซึ่งยังคงมีช่องว่างในการขยายตัวในแง่ของจำนวนผู้ใช้บริการต่างชาติในอนาคต ในฝั่งของผู้ใช้บริการในประเทศไทยก็ยังคงมีช่องว่างในการขยายตัวเช่นกัน ทั้งจากเรื่องของ Aging Society และเรื่องของการประกันสุขภาพที่กลายเป็นกระแสความสนใจมากขึ้นในกลุ่มของคนไทยซึ่งมีส่วนให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขยายตัวตามไปด้วย

กระแส Aging Society ของประเทศไทยที่ค่อนข้างชัดเจนว่าสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยในปี 2564 จะมีประมาณ 19.8% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 22.8 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ซึ่งช่วยให้เกิดการตื่นตัวของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เรื่องของ Wellness Center ที่เน้นไปในทางดูแลและฟื้นฟูศักยภาพของผู้วัย รวมไปถึงการดูแลรักษาสุขภาพในระยะยาว ไม่ใช่การรักษาแบบโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องของ Wellness Center นั้นที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่มีฐานะและต้องการใช้ชีวิตให้ยืนยาวแบบไม่มีโรคภัยมากขึ้น

นอกจากนี้ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยก็มี Wellness Center เกิดขึ้นไม่น้อย เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต ปทุมธานี เป็นต้น ซึ่งเริ่มเห็นได้ชัดในช่วง 4– 5 ปีที่ผ่านมาที่เริ่มมี Wellness Center ที่มีมาตรฐานสากลเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงสามารถขยายตัวได้อีกในอนาคตตามกระแสความนิยมที่เริ่มเห็นชัดเจนในประเทศไทย

 มหาวิทยาลัยอยู่ในช่วงขาลง แต่ “โรงเรียนนานาชาติ ”มีแนวโน้มโตขึ้น

อีกหนึ่งธุรกิจที่อาจจะอยู่ในช่วงขาลงคือ ธุรกิจมหาวิทยาลัยเอกชนตามกระแสการลดลงของจำนวนประชากรวัยรุ่น เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 – 20 กว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนประชากรในวัย 15 – 20 ปีในปี 2562 มีทั้งหมดประมาณ 4.86 ล้านคนลดลงจากปี 2552 ประมาณ 15% ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปยังหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคการศึกษา ดังนั้น ผู้ประกอบการสถานศึกษาเอกชนหลายแห่งจึงจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติให้มากขึ้นเพื่อทดแทนกลุ่มคนไทยที่ลดลง

ณ ปี 2560 ที่ผ่านมามีนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนใหม่ในประเทศไทยรวมแล้วประมาณ 11,512 คน มากขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 17% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ เห็นได้จากข้อมูลผลสำรวจของเว็บไซต์ educations.com พบว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชียและอันดับที่ 3 ของโลกจากการสำรวจความคิดเห็นนักเรียนในการเลือกสถานที่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก

ทั้งนี้ นักศึกษาต่างประเทศทั้งหมดในประเทศไทย ณ ปี 2561 มาจากประเทศจีนมากที่สุด คือ ประมาณ 10,766 คน รองลงมาคือนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว รวมไปถึงประเทศในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย เนปาล และเกาหลี เป็นต้น ซึ่งนักศึกษาต่างชาติเหล่านี้กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชนและรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นต้น นอกจากเรื่องของคุณภาพการศึกษาที่ได้รับการยอมรับแล้ว เรื่องของค่าครองชีพที่ไม่สูงมาก และความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกสถานศึกษาเพื่อเรียนต่อของกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ

การที่มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทยมากขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะนักศึกษาจากประเทศจีนมีผลให้กลุ่มนักลงทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจในการเข้ามาซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย โดยที่มีการเปิดเผยออกมาแล้วคือ การเข้าซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเกริก และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด จากกลุ่มของนักลงทุนจีน ซึ่งคาดว่าจะยังคงมีการซื้อขายมหาวิทยาลัยเอกชนอีกในอนาคต เพราะมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งประสบปัญหาเงินทุนไม่หมุนเวียนเพราะจำนวนนักศึกษาลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานมากเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชียปีละไม่ต่ำกว่า 58,000 คนโดยชาวต่างชาติเหล่านี้ไม่ได้เข้ามาทำงานใช้แรงงานแต่เข้ามาทำงานในระดับผู้บริหารหรือเป็นเจ้าของกิจการซึ่งส่วนหนึ่งไม่ได้เข้ามาทำงานเพียงลำพังแต่มีการพาครอบครัวเข้ามาในประเทศไทยด้วยซึ่งบุตรหลานของคนกลุ่มนี้ต้องมีสถานศึกษารองรับประกอบกับครอบครัวคนไทยระดับปานกลางขึ้นไปเห็นความสำคัญของการใช้ภาษาต่างประเทศมากขึ้นโรงเรียนนานาชาติระดับตั้งแต่ประถมศึกษาขึ้นมาถึงระดับมัธยมศึกษาจึงได้รับความนิยมมากขึ้นทุกปี ดังนั้น โรงเรียนนานาชาติเป็นอีกหนึ่งรูปแบบธุรกิจที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดในประเทศไทยมีโรงเรียนนานาชาติอยู่ทั้งหมด 207 แห่ง แต่มีโรงเรียนนานาชาติที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด 147 แห่ง

ภาพรวมของธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 6 – 7 หมื่นล้านบาทต่อปีขยายตัวปีละไม่น้อยกว่า 7% แต่การขยายตัวของจำนวนโรงเรียนนานาชาติอยู่ที่ปีละประมาณ 9 – 10% ต่อปีซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติยังเป็นธุรกิจที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจรวมไปถึงนักลงทุนชาวไทยที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น เพราะเป็นธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนของคนวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในประเทศไทยจะลดลงแต่ยังคงมีช่องทางการขยายตัวจากกลุ่มนักเรียนชาวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*