รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนข. พร้อมได้กำชับให้ สนข. ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2580)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมตรวจเยี่ยมมอบนโยบายและให้แนวทางในการทำงาน แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุม 401 อาคาร สนข. โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารพร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม ซึ่งนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และนายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจบทบาท และหน้าที่ของ สนข.

สนข. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มีภารกิจในการกำหนดทิศทาง นโยบายและแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในด้านต่างๆ รวมทั้งระบบการจราจรของประเทศ เปรียบเสมือน “คลังสมอง” ให้กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งบทบาทและภารกิจหลักของ สนข. คือการทำหน้าที่เชื่อมประสานการนำนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเสนอนโยบายและแผนหลักด้านการจราจร เพื่อหน่วยงานต่างๆ รับไปดำเนินการให้เป็นไปตามแผนรวมทั้งกำหนดมาตรฐานการจราจรทางบก และมาตรการในการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ผ่านมา สนข. ได้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่และมีบทบาทในการเสนอแนะนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท แผนงานต่าง ๆ ด้านการขนส่งและจราจรทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจนผลักดันขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการ/มาตรการต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และพร้อมรองรับการขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ สนข. มีภารกิจงานสำคัญที่จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้นี้ ประกอบด้วย

1) การพัฒนาเมือง/พื้นที่/ขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค

  • การศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (Transit Oriented Development : TOD)
  • การศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับ EEC
  • การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

2)  การพัฒนาโครงข่ายการเชื่อมต่อและแก้ไขปัญหาจราจร

  • การศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งสำหรับคนทุกคน (Universal Design)
  • การศึกษาความเป็นไปได้การก่อสร้างอุโมงค์และถนนใต้ดิน
  • การพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายเส้นทางเดินเรือในคลองเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร
  • การพัฒนาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น

3) การพัฒนาระบบขนส่งยั่งยืน

  • การศึกษาจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้ สนข. ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2580) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศให้มีความสะดวก ปลอดภัยตรงเวลา สามารถบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายอย่างสมบูรณ์ โดยเร่งรัดผลักดันโครงการลงทุนสำคัญ เช่น การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น และเน้นย้ำว่าการวางแผนหรือการกำหนดนโยบายต่างๆ จำเป็นต้องใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยกำหนดเป็น KPI ที่ชัดเจน เพื่อนำไปติดตามผลการดำเนินงานให้สามารถอธิบายผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ สนข. ดำเนินการในมติต่าง ๆ ดังนี้

 มิติการวางแผนและพัฒนาและเร่งรัดการดำเนินการตามยุทธศาสตร์

  • การดำเนินการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ต้องวางแผนคาดการณ์ให้ครบทุกมิติ พิจารณาถึงปัญหาการกระจุกตัวของการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยต้องสร้างทางเลือกโครงข่ายใหม่ ๆ ให้กับประชาชนรวมถึงทุกภาคส่วนให้เกิดการกระจายตัวของระบบโลจิสติกส์ และกระจายตัวของเศรษฐกิจ
  • การดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินโครงการ ผลประโยชน์ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือ โดยเน้นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้โดยง่าย เพื่อป้องกันการได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
  • ในฐานะที่ สนข. เป็นหน่วยงานกลางต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน พิจารณามาตรการการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้ครบถ้วนเป็นระบบ เพื่อลดหรือบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนที่จะกระทบกับประชาชนจากการดำเนินโครงการ
  • การดำเนินโครงการต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีการกำกับติดตามงานให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการประเมินและรายงานผลการดำเนินงานของทุกโครงการให้การดำเนินงานเห็นความสำเร็จ

มิติการดำเนินงานตามนโยบาย

  • เร่งรัดนำนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเคยมอบไว้ไปปฏิบัติ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น การกำหนดอัตราความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจร และการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เป็นต้น

มิติการศึกษาร่วมกับต่างประเทศ

  • เนื่องจาก สนข. มีอัตรากำลังน้อยแต่มีภารกิจจำนวนมาก จึงต้องมีการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้มากขึ้น เช่น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ หน่วยงานระหว่างประเทศ เป็นต้น

มิติการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

  • สนข. ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน การนำพาองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัลโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่ง
  • ปัจจุบัน สนข. ขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับภารกิจต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการ จึงขอให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*