เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก
(1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง
(2) การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ
(3) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ
(4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.4 – 1.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.3 ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1.การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากร้อยละ 4.5 ในปี 2562 ตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและฐานรายได้ในภาพรวมที่อยู่ในระดับต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และฐานรายได้ในภาคเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

(2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในปี 2562 สอดคล้องกับกรอบวงเงินรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปี 2563

2.การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2562 โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 2.8 ในปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

(1) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐทั้งในด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการในต่างประเทศ สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงและต่อเนื่องของการลงทุนก่อสร้างในหมวดโรงงานในครึ่งหลังของปี 2562

(2) การผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย (LTV) และ

(3) การดำเนินมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพิ่มเติมของภาครัฐ ทั้งในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.2 ในปี 2562 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในการประมาณการที่ผ่านมา โดยเป็นผลจาก

(1) การปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 1.5 และ

(2) การปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกบริการตามการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 จาก 41.8 ล้านคนในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็น 37.0 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยอยู่บนสมมติฐานการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คาดว่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงจนทำให้ทางการจีนยุติเงื่อนไขการเดินทางออกนอกประเทศของประชาชนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เมื่อรวมกับการปรับลดประมาณการการส่งออกจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่ำกว่าร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า

ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2563

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 ควรให้ความสำคัญกับ

(1) การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวในครึ่งปีหลัง

(2) การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ โดยการ
-ยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีผิดนัดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
-รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
-จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี
-พิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และ
-ติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว

(3) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.0 (ไม่รวมทองคำ) โดยมุ่งเน้น
-การขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 2563
-การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้า และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19
-การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย – จีน และ
-การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ

(4) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 91.2 ร้อยละ 70.0 และร้อยละ 75.0 ตามลำดับ

(5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย
-การติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน
-การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
-การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญ ๆ และ
-การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ

(6) การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับ
-กลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูการเพาะปลูกและฤดูการเก็บเกี่ยว
-กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
-กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs
-การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และ
-การบริหารจัดการน้ำ

อ่านข่าวเพิ่มเติม>>>> เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 62 โต 1.6% รวมทั้งปี 62 โต 2.4% <<<<

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*