จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่อเค้าความรุนแรงและขยายวงกว้าง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 และภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึง “เรียล เซกเตอร์” อื่นๆ รวมถึงภาคธุรกิจ “อสังหาริมทรัพย์” ได้เผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายคาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภท คอนโดมิเนียม “เปิดขายใหม่” รวมถึง “ ยอดขาย” ที่ขายได้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ยอดขายของบริษัทอสังหาฯ (บางราย) คาดว่าจะหายไปไม่น้อยกว่า 50 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งยังเผชิญกับแรงกดทับจากความเข้มงวดของธนาคารหรือสถาบันการเงินในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้กับผู้บริโภคในทุกตลาดทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ (บ้านจัดสรร) และที่อยู่อาศัยในแนวสูง (คอนโดมิเนียม) ที่ทำให้ยอดปฎิเสธสินเชื่อมีมากขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่ยอดการปฎิเสธสินเชื่อส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 30-50%

แนวทางการรับมือวิกฤติของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์นั้นมีหลากหลายขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อม นโยบายของผู้ประกอบการแต่ละราย บ้างก็เลื่อนเปิดโครงการใหม่ออกไป รอให้สถานการณ์ของวิกฤติคลี่คลายหรือปกติค่อยลุยตามแผน ด้วยการเน้นขายโครงการที่เป็น inventory โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม แต่หากบางรายไม่สามารถหยุด (ชะลอ) ได้ต้องเดินหน้า แต่ก็พร้อมกับปรับรูปแบบวิธีการขายหรือการตลาดด้วย Online Marketing ระดมทีมงานประกบโทรคุยกับลูกค้าเป็นรายบุคคล รวมถึง เพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ ควบคุมค่าใช้จ่าย  บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้น ขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์จะต้องวางแผนและดำเนินการควบคู่ขนานไปก็คือ การหา “ทางออก” หรือมาตรการ “ช่วยเหลือ” กลุ่มลูกค้าผู้บริโภคที่ได้รับพิษไวรัสโควิด-19 ให้สามารถซื้อ (จอง) หรือโอนกรรมสิทธิ์บ้าน คอนโดมิเนียมได้ เพราะนั่นคืออีกช่องทางกับการประคองธุรกิจให้อยู่รอดยามวิกฤติด้วยเช่นกัน

Prop2morrow.com สำรวจและสอบถามผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ถึงมาตรการ “ช่วยเหลือ” ลูกค้าผู้บริโภค อาทิ ลูกค้าที่มีอาชีพในกลุ่มสายการบิน โรงแรม หรือภาคบริการอื่นๆ ฯลฯ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับผลระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่สถาบันการเงิน (แบงก์) อาจมีการจัดเกรดลูกค้ากลุ่มนี้ใหม่ให้อยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” จากเดิมที่อยู่ในกลุ่ม “ลูกค้าเกรดเอ” โดยแนวทางที่บริษัทอสังหาฯออกมาตรการมาช่วยลูกค้า ส่วนใหญ่ก็ (อาจ) อยู่ภายใต้เงื่อนไขพิจารณาเป็นรายกรณีๆ ไปเบื้องต้นนั้น อาทิ

  • พักชำระค่างวดเงินดาวน์
  • ผ่อนจ่ายเงินดาวน์ 50 %
  • จ่ายเงินดาวน์ในลักษณะเดือนเว้นเดือน หรือ จ่ายสองเดือนเว้นหนึ่งเดือน
  • จัดแพคโปรโมชั่นขายเป็นรายบุคคล
  • ฟรี!ทุกค่าใช้จ่ายควบคู่รับส่วนลด-จัดโปร!แบบ On Top
  • ช่วยลูกค้าดูแพคเกจสินเชื่อที่เหมาะสม
  • ยืดเวลาโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า
  • ร่วมมือกับบริษัทประกันภัยคุ้มครองลูกค้า

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศตัวชัดเจนถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าก็คือ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ออกมาตรการสั้นประกาศพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์บ้าน–คอนโดฯ เป็นเวลา  3 เดือน ช่วยลูกค้าลดภาระในการผ่อนงวดดาวน์  สำหรับลูกค้าในสายอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19  เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันนี้-31 พฤษภาคม 2563 โดยจำนวนเงินที่เว้นระยะเวลาการพักชำระค่างวดผ่อนดาวน์ 3  เดือนนี้จะนำไปรวมชำระในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ ** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >>“ศุภาลัย”พักงวดดาวน์บ้าน 3 เดือน ช่วยลูกค้าประสบภาวะวิกฤตโควิด-19

บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ได้ออกมาตรการ “SENA ZERO COVID”  เพื่อช่วยเหลือลูกค้าทางการเงินและสร้างความปลอดภัยในทุกโครงการของเสนา ย้ำจุดยืน “เราจะสู้ไปด้วยกันจนกว่าจะเป็น  Zero COVID” ** อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ >>SENA ออกมาตรการ “SENA ZERO COVID” อุ้มลูกค้าทุกกลุ่ม

บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF ก็มีมาตรการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยนายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ บริษัท วิริยะประกันภัย  จำกัด (มหาชน) มอบความคุ้มครองให้แก่ลูกค้าของบริษัทฯ ด้วยแผนประกัน “โควิดชีลด์  ติดปุ๊ปรับปั๊ป” เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 รับเงินก้อนทันที 100,000 บาท หากนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 มีค่าชดเชยรายวัน วันละ 300 บาท สูงสุด 14 วัน พร้อมคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอีก 100,000 บาท โดยลูกค้าที่ซื้อบ้านและทาวน์โฮม ที่โอนกรรมสิทธิ์ภายในเดือนเมษายน 2563นี้ จะได้รับความคุ้มครองเป็นระยะเวลา 1 ปี

สำหรับลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครงการของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ทุกโครงการ ภายในเดือนเมษายนนี้ จะได้รับสิทธิ์ความคุ้มครองนาน 30 วัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 รับทันที 30,000 บาท พร้อมค่าชดเชยรายวันกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและประกันชีวิตด้วยเช่นกัน

“ลูกค้าที่มีปัญหาหรือได้รับผลกระทบจริงๆ เราพร้อมที่จะช่วยเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นยืดเวลาโอนกรรมสิทธิ์ออกไป 1-2 เดือน รวมถึงการพักการจ่ายงวดดาวน์ ซึ่งเรื่องนี้แม้จะไม่ประกาศเป็นมาตรการแต่ในทางปฎิบัติเราก็พร้อมจะยืดหยุ่นให้ลูกค้าซึ่งก็คงดูเป็นรายกรณีๆไป”นายวงศกรณ์ กล่าว พร้อมกันนี้เขา ยังกล่าวด้วยว่า บริษัทฯ มีลูกค้าที่มีอาชีพในกลุ่มสายการบิน โรงแรม หรือภาคบริการอื่นๆ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20%

ด้านนางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บริทาเนีย จำกัด ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบในเครือบมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) กล่าวว่า ตลอดช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ และลูกค้า แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อไปเกินครึ่งปีแรก ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อลูกค้า และรายได้บริษัทฯ ที่มาจากการโอนบ้านให้กับลูกค้า กล่าวคือ ลูกค้าอาจมีปัญหาจากการพิจารณาการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินก็จะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอีก รวมถึงการจัดกลุ่มลูกค้าใหม่ของแบงก์ให้อยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” จากลูกค้าเกรดเอหรือบี+ สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านบริการทั้งสายการบิน ท่องเที่ยว โรงแรม เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ มีลูกค้าที่ประกอบอาชีพหรือทำงานในภาคบริการดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมา บริษัทฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาช่วยลูกค้าตามความเหมาะสม ดังนี้  ช่วยลูกค้าดูแพคเกจสินเชื่อที่เหมาะสม, ยืดเวลาการโอ(พิจารณาเป็นรายกรณี) เพิ่มเติมเข้ามา จากปัจจุบัน บริษัทฯ ได้ออกแคมเปญเพื่อช่วยลูกค้ามากมาย ฟรี! ทุกค่าใช้จ่าย และให้ส่วนลดและให้โปรโมชั่นแบบ On Top แก่ลูกค้า เป็นต้น ซึ่งในปีนี้ บริทาเนีย ตั้งเป้ามีรายได้จากการโอนบ้านให้ลูกค้าประมาณ 5,000 ล้านบาท

นายนพรัตน์ เอื้อพิพัฒนากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัน เรียลเอสเตท จำกัด ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ MITI ” และดำเนินธุรกิจบริหารด้านการขาย และการตลาดโครงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวยอมรับว่าจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ลูกค้าไม่แวะโครงการ หรือแวะก็มีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันลูกค้าที่เคยแวะเข้ามาซึ่งเดิมมีแผนจะซื้ออยู่แล้วก็เกิดความลังเล เพราะไม่มั่นใจในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นทั้งความมั่นคงในรายได้และงานที่ทำ ส่วนลูกค้าบางรายที่ทำธุรกิจเอสเอ็มอี ก็ชะลอการตัดสินใจซื้อหรือนำเงินมาลงทุนในอสังหาฯเพราะไม่ต้องการมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม อีกทั้งเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน

ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นมองว่ากระทบทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการขาย โครงการใหม่ที่เปิดขายในอนาคตและโครงการที่จะถึงกำหนดโอนให้กับลูกค้าในอีก 1-3 เดือนข้างหน้า หรือถ้าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวไปจนถึงครึ่งปีแรกหรือนานกว่านั้น ผลกระทบที่มีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็อาจจะยาวตลอดทั้งปี ซึ่งก็ยากที่จะคาดเดาว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกินเวลาสั้นหรือยาวแค่ไหน “ไตรมาสแรกผลกระทบอาจยังเห็นไม่เด่นชัดแต่จะชัดเจนจริงๆ ก็ไตรมาส 2-3 ทั้งขายและโอน”

อย่างไรก็ตาม บริษัท วัน เรียลเอสเตท ในฐานะที่บริหารด้านการขายและการตลาดโครงการอสังหาริมทรัพย์ ก็พร้อมที่จะเป็นตัวแทนหรือทำหน้าที่พูดคุยกับทางผู้ประกอบการเจ้าของโครงการเพื่อช่วยลูกค้าผู้บริโภคที่ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการที่บริหารด้านการขายและการตลาดในรูปแบบต่างๆเท่าที่จะสามารถทำได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นแฟนคลับ ดังนี้ ผ่อนจ่ายค่างวดดาวน์ 50%  จ่ายค่างวดเงินดาวน์แบบเดือนเว้นเดือนหรือจ่ายสองเดือนเว้นหนึ่งเดือน เป็นต้น

“การผ่อนปรนในเรื่องต่างๆ นี้ผมมองว่าไม่ใช่ดีเวลลอปเปอร์ทุกรายจะทำได้เพราะหลายรายก็เงินตรึงๆ เหมือนกัน หรือคนทำได้ลึกๆ แล้วก็ทำได้ไม่ได้หมดหรือทำก็อยู่ภายใต้การมีเงื่อนไข แต่อย่างน้อยก็ดีในแง่จิตวิทยา” นายนพรัตน์ กล่าวให้ความเห็นในตอนท้าย

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*