เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563  เวลา 10.30 น. รถไฟฟ้าสายสีทอง รุ่น Bombardier Innovia APM 300 ขบวนแรกของประเทศไทย ได้เดินทางมาถึง ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นที่เรียบร้อยโดยมี นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และนายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับขบวนรถไฟฟ้า ณ ท่าเรือ เอ 2 ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

นายมานิต เตชอภิโชค กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรองที่กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งแบ่งดำเนินการในระยะที่ 1 มีจำนวน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรีที่มีการพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ ขณะนี้มีความก้าวหน้าในภาพรวม 89 % โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้า 94.42 %  ส่วนงานระบบเดินรถ คืบหน้า 81 % เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศเกิดความล่าช้าจากผลกระทบโรคระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายจึงสามารถเดินหน้างานในการทำงานอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามต้องขอบคุณทีมงานทุก ๆ ส่วนของโครงการ บริษัท AMR ASIA     ผู้ติดตั้งระบบ รวมทั้งสำนักการจราจร และขนส่ง เจ้าของโครงการ สำนักการโยธา สำนักงานเขต และ กรมทางหลวงชนบทเจ้าของพื้นที่ สน.พื้นที่ รวมทั้งสำนักสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้การเร่งรัดงานเป็นไปด้วยดี ทำให้สามารถเปิดเดินรถได้ภายในปี 2563 โดยยังคงเป้าหมายเดิมคือในเดือนตุลาคม นี้ โดยอัตราค่าโดยสารตามที่ศึกษาไว้คือ จัดเก็บที่ 15 บาทตลอดสาย  คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ในปีแรกที่เปิดให้บริการ ที่ 42,260 เที่ยว-คน/วัน

นายมานิต กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ถือเป็น Feeder (ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง) ที่ใช้รูปแบบรถที่มีขนาดกะทัดรัด  โดยเลือกใช้รถไฟฟ้า Automated People Mover – APM (ระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีความเหมาะสมกับพื้นที่และเป็น Feeder (ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง) ที่มีประสิทธิภาพที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในทุกโหมดไม่ว่าจะเป็นระบบรางสายหลักของรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยเชื่อมต่อกัน ที่สถานีกรุงธนบุรี ผู้โดยสารที่ใช้บัตรแรบบิทสามารถ เดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีทองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีทองยังเชื่อมต่อกับรถโดยสารประจำทางในพื้นที่ย่านคลองสานรวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในเส้นทางเดินเรือแม่น้ำเจ้าพระยา และในอนาคตยังเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-ราษฎร์บูรณะ และรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ อีกด้วย

ทั้งนี้ โครงการนี้ไม่มีการใช้งบประมาณจากทางราชการ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่รัฐ มีลักษณะคล้ายกับการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนบางเส้นทางในประเทศญี่ปุ่น

นายสุมิตร ศรีสันติธรรม กล่าวว่า ในนามบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับว่าจ้างในการจัดหาขบวนรถ รวมถึงการเดินรถ และซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 30 ปี จากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยรถไฟฟ้าที่รับมอบในครั้งนี้ เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ผลิตที่เมือง    อู่หู มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเมื่อขบวนรถไฟฟ้าเดินทางมาถึงประเทศไทย บริษัทฯ จะนำขบวนรถไฟฟ้าไปยังโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีกรุงธนบุรี

สำหรับรถไฟฟ้ารุ่นดังกล่าว มีความพิเศษคือ เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยใช้รางนำทาง สามารถจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ และ1 ขบวนสามารถจุผู้โดยสาร 276 คน/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 4,200 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร น้ำหนัก 16,300 กิโลกรัม ก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากเกิดเหตุฉุกเฉินระบบจะทำการหยุดรถอัตโนมัติ และมีรถมารับผู้โดยสารทันที

นายสุมิตร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ขบวนรถไฟฟ้าที่บริษัทฯ ได้รับมอบแล้วจำนวน 1 ขบวน เหลืออีก 2 ขบวนที่จะทยอยเดินทางมาภายในเดือนสิงหาคมนี้ สำหรับขบวนรถที่ใช้ในระบบรถไฟฟ้าสายสีทองนั้นมีทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ใช้รับส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ขบวน และสำรองไว้ในระบบ 1 ขบวน สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองถือเป็นรถไฟฟ้าสายสำคัญ โดยเส้นทางจะผ่านแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ไอคอนสยาม ล้ง 1919 เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าสู่สถานที่สำคัญของกรุงเทพมหานครได้ดียิ่งขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*