โครงการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC คลอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ และเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาวและเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเชื่อมโยงการพัฒนาภายในประเทศ  และประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับการดำเนินงานจัดทำแผนผังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของกรมโยธิการและผังเมืองนั้น พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษ  ภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนผัง EEC ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้เป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง โดยการจัดทำแผนผัง EEC ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ นโยบายการพัฒนาพื้นที่ของ EEC ทบทวนผังเมืองรวมเดิมในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อใช้เป็นกรอบ  ในการจัดทำแผนผัง และมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านกายภาพของพื้นที่แนวโน้มการพัฒนาของประชากร เศรษฐกิจ และได้นำ (ร่าง) แผนผัง EEC ไปประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 3 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง โดยประชุมอย่างเป็นทางการรวม 25 ครั้ง เพื่อนำมาปรับปรุง (ร่าง) แผนผัง EEC ให้มีความสมบูรณ์

แผนผัง EEC มีเป้าหมายในการรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอีก 20 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2580 ครอบคลุมพื้นที่ 8.29 ล้านไร่ และรองรับจำนวนประชากรกว่า 6 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ครอบคลุม 8 ระบบ โดยแผนผัง การใช้ประโยชน์ในที่ดิน กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท

แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท ดังนี้

– กลุ่มพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน มีพื้นที่จากเดิม 817,971 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,096,979 ไร่   (เพิ่มขึ้น 3.36%)

– กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม มีพื้นที่จากเดิม 259,769 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 424,853 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1.99%)

– กลุ่มพื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม พื้นที่เดิม 5,524,574 ไร่ ลดลงเหลือ 4,850,831 ไร่ (ลดลง 8.13%) เนื่องจากได้กำหนดไว้เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง อุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่โล่ง    เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ได้กำหนดไว้บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ ริมแม่น้ำ และคลองที่สำคัญ ซึ่งสามารถทำเกษตรกรรมได้

– กลุ่มพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่เดิม 1,435,526 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,678,753 ไร่ (เพิ่มขึ้น 2.93%)

ปัจจุบัน แผนผัง EEC ได้มีผลใช้บังคับแล้ว โดยประกาศเป็น “ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน   และระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562” โดยประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ภายหลังจากแผนผัง EEC ประกาศแล้ว จะยกเลิกผังเมืองรวมที่บังคับใช้พื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไป

การดำเนินงานระยะต่อไป กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำผังเมืองรวมขึ้นใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนผัง EEC (มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. EEC) จำนวน 30 อำเภอ (ครอบคลุมพื้นที่ทั้งอำเภอ) โดยขั้นตอนดำเนินการจะเป็นไปตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ฉบับใหม่ พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังดำเนินการ

วัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ EEC

  1. ส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะสมฐานเทคโนโลยี
  2. เพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบสมบูรณ์ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก
  3. พัฒนาเมืองให้น่าอยู่และมีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
  4. เสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะประตูของภูมิภาคเอเชียในบริบทโลก

ประโยชน์จากการมีแผนผัง EEC

1.จัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่

  1. รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภค – สาธารณูปการได้อย่างสะดวก
  3. ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  4. หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน สามารถวางแผนการพัฒนาและการลงทุนได้ชัดเจน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*