REIC คาดการณ์ตลาดอสังหาฯปี’64 พื้นที่เขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีหน่วยเหลือขายรวมสะสมทั้งปีกว่า 199,723 ยูนิต มูลค่ากว่า 987,266 ล้านบาท ในขณะที่อัตราการดูดซับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ หากไร้ปัจจัยสนับสนุนอาจส่งผลให้มูลค่ารวมของหน่วยเหลือขายทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดทะยานแตะล้านล้านบาทสูงสุดในรอบประวัติการณ์

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยพื้นที่เขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาพรวมมีที่อยู่อาศัยเหลือขายสูงขึ้นจากปี 2563 ประมาณการหน่วยเหลือขายสะสมในครึ่งแรกปี’64 มีจำนวน 193,415 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 956,086 ล้านบาท และครึ่งหลังปี’64 เพิ่มสูงขึ้นอีกราว 3% จากครึ่งปีแรก โดยมีจำนวน 199,723 ยูนิต มีมูลค่ากว่า 987,266 ล้านบาท

ในขณะที่จำนวนหน่วยเปิดใหม่ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 2563 โดยคาดการณ์สะสมทั้งปี’64 จะมีจำนวนหน่วยเปิดใหม่สะสม 32,274 ยูนิต มูลค่ากว่า 177,240 ล้านบาท ในขณะที่จำนวนหน่วยขายได้ใหม่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากปี’63 อย่างช้าๆ ในลักษณะของกราฟที่ทำมุมป้านออก โดยครึ่งแรกของปี’64 มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ราว 27,883 ยูนิต มูลค่ารวม 134,156 ล้านบาท และครึ่งหลังของปีปรับตัวสูงขึ้น มีจำนวน 31,392 ยูนิต มูลค่ากว่า 151,043 ล้านบาททิศทางของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลงเป็นผลมาจากการขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องสะสมตั้งแต่ครึ่งหลังปี’62 โดยมีประมาณการการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งปี’64 จำนวน 62,729 ยูนิต

เมื่อพิจารณาถึงอัตราการดูดซับต่อเดือนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปี’63 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุด โดยบ้านจัดสรรมีค่าเฉลี่ยที่ 2.7 % สำหรับครึ่งแรกของปี’64 มีอัตราการดูดซับ 2.4 % และปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในครึ่งหลังของปี’64 ที่ 2.6 % ในส่วนของอาคารชุดค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.5 % ครึ่งแรกของปี’64 มีอัตราการดูดซับ 1.8 % และครึ่งหลังของปี’64 ที่ 1.9 % สะท้อนให้เห็นถึงภาวการณ์ของตลาดอสังหาฯที่ยังไม่ค่อยดี แต่เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาหากไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นที่รุนแรงไปมากกว่าช่วงเวลานี้ อุปทานที่อยู่ระหว่างการขายยังมีจำนวนมากในแต่มีอัตราการขายที่น้อยลงอัตราการดูดซับจึงยังไม่เติบโตมากเท่าที่ควร

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า หากไม่มีมาตราการจากทางภาครัฐเพิ่มเติมที่มาสนับสนุนหรือกระตุ้นตลาดอสังหาฯในภาวะที่ผู้ประกอบการช่วยกันให้ตลาดเดินหน้าไปต่อได้จะส่งผลให้เกิดสต๊อกคงค้างสูงในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ส่งผลต่อหน่วยเหลือขายทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดอาจมีมูลค่าสูงถึงล้านล้านบาท จากเดิมที่สูงสุดในปี 2562 ราว 7 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงปีหลังของการพัฒนาโครงการที่มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้มูลค่ารวมของหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้นจากเดิมค่อนข้างมาก

ทิศทางของปีหน้า 2564 ทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น โดยบ้านจัดสรรมีแนวโน้มการปรับตัวที่ดีกว่าในขณะที่อาคารชุดยังคงมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่ากลางตามที่ศูนย์ข้อมูลฯประมาณการไว้ ปี 2563 ถือเป็นจุดต่ำสุดของตลาดอสังหาฯ และจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นเสมือนแสงสว่างที่เริ่มกลับมาแต่จะเป็นไปอย่างช้าๆ ต้องใช้ระยะเวลาอีก 4-5 ปี ข้างหน้าตลาดอสังหาฯจึงจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*