• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในปี 2563 ต้นทุนก่อสร้างน่าจะเพิ่ม 1.03-1.33% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการป้องกันโรคระบาดประมาณ 0.2-0.5% ต่อโครงการและจากสภาวะขาดแคลนแรงงานที่ส่งผลให้ค่าแรงงานเพิ่ม 0.83% ต่อโครงการ
  • จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาเหล็กที่เป็นผลมาจากภาวะขาดแคลนแร่เหล็ก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ต้นทุนก่อสร้างมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 1.4-1.9%
  • ผู้รับเหมาจึงควรคำนวณและประเมินถึงต้นทุนและขั้นตอนการก่อสร้างเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้นในราคาประมูลงานในภายภาคหน้า นอกจากนี้ผู้รับเหมายังควรเตรียมกระแสเงินสดและแนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ สำหรับการก่อสร้างโครงการในอนาคต
  • ในระยะยาวอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยควรมีมาตรฐานการรับมือโรคระบาด และพิจารณาการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้นและลดความหนาแน่นของคนในสถานที่ก่อสร้าง

 

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.2-0.5% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในไซต์ก่อสร้าง

สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างต้องปรับตัวในการทำงาน และเกิดต้นทุนฉับพลันในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเชิงป้องกันเพื่อลดการแพร่ของโรคระบาด  (Protective health safety measure) ที่ทำให้ต้นทุนที่เกิดจากการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเดินทางรับส่งแรงงาน ค่าที่พักคนงาน และค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาดที่เพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่ามาตรการป้องกันโรคระบาดจะส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างของผู้รับเหมาน่าจะเพิ่มขึ้น 0.2-0.5% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค หรือ ตั้งแต่มีนาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย

ถึงแม้จนถึงขณะนี้ไทยสามารถควบคุมโควิดได้และสถานการณ์โควิดในต่างประเทศอาจจะเริ่มคลี่คลายเมื่อมีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลายนั้น ต้นทุนทางด้านการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรการป้องกันโรคระบาดอาจจะคงอยู่ เนื่องจากการทำงานรูปแบบนี้สามารถเป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมก่อสร้างเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการระบาดของโรคติดต่อใหม่ต่อไป ต้นทุนนี้จึงอาจจะเป็นต้นทุนในระยะยาวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

นอกจากต้นทุนฉับพลันที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดแล้วยังมีต้นทุนฉับพลันที่เกิดจากค่าจ้างแรงงานอีกเช่น ในช่วงเดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายนปี 2563 ที่ผ่านมางานก่อสร้างบางแห่งได้หยุดการก่อสร้างหรือถึงแม้สามารถก่อสร้างต่อไปได้แต่ต้องลดความหนาแน่นคนงานลงทำให้ต้องเพิ่มจำนวนรอบการทำงาน ส่งผลให้ดัชนีค่าจ้างแรงงานก่อสร้างและค่าล่วงเวลาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  ซึ่งปัจจัยบางส่วนอาจจะมาจากสภาวะการขาดแคลนแรงงานเดิม ทำให้อาจมีต้นทุนก่อสร้างที่สูงขึ้นอีก 0.83% เพิ่มขึ้นจากต้นทุนมาตรการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโรคระบาด

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

จากมาตรการสุขอนามัยและขั้นตอนการทำงานที่เพิ่มขึ้นที่จะยังคงอยู่จนกว่าไวรัสโควิด-19 จะหายไป ทำให้ผู้รับเหมาควรคำนึงถึงต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นและแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อให้ราคาที่ยื่นประมูลงานก่อสร้างสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในงานก่อสร้างอาจพิจารณาถึงการระบุมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดลงไปในมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในไซต์ก่อสร้าง (Safety book) เหมือนในประเทศสิงคโปร์ สหรัฐฯ และอีกหลายๆประเทศ ที่มีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคระบาดในระยะยาว ซึ่งคาดว่าอาจจะมีต้นทุนก่อสร้างสูงขึ้นกว่าไทย (สูงกว่า 0.2-0.5%) เนื่องจากมาตรการป้องกันของต่างประเทศมีนโยบายที่เข้มงวดและเป็นเชิงรุกมากกว่า (Preventive measure) และมีหน่วยงานที่เข้ามาบังคับใช้อย่างเข้มข้น  ยกตัวอย่าง เช่น สิงคโปร์ ที่มีการบังคับกฎระเบียบที่พักอาศัยไม่ให้อยู่เกิน 2 คนต่อห้อง การขนส่งแรงงานก่อสร้างที่ไม่ให้ใช้รถสาธารณะและให้ใช้รถของบริษัทเท่านั้น

การแบ่งโซนในการทำงานโดยไม่ให้แรงงานที่ทำงานคนละส่วนมาปะปนกัน รวมถึงมีการบังคับให้มีเจ้าหน้าที่ทางด้านสุขอนามัยโดยเฉพาะ หรือ Safe management officer (SMO) ที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วน 1 คนต่อแรงงาน 50 คนโดยประมาณ เพื่อบังคับใช้มาตรการทางด้านสุขอนามัยและเป็นที่ติดต่อหรือให้คำแนะนำกรณีที่เกิดอาการเสี่ยงต่อการติดโรคระบาด การให้แรงงานอัพเดตสถานะตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่น การมีวันหยุดพิเศษให้แรงงานและการเพิ่มรอบการทำงานเพื่อลดความหนาแน่นของแรงงาน นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นในอนาคต อีกเช่น เกณฑ์การออกแบบระบบแอร์เพื่อป้องกันการระบาดของโรคระบาด ซึ่งปัจจัยทั้งหมดอาจจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นและน่าจะถูกระบุในสัญญาการก่อสร้างที่ผู้ว่าจ้างต้องรับต้นทุนดังกล่าว เนื่องจากเป็นระเบียบมาตรฐานของหน่วยงานรัฐ

การยับยั้งการแพร่ระบาดยังทำให้เกิดความผันผวนของราคาวัสดุก่อสร้างและตลาดแรงงานก่อสร้างอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนก่อสร้างในปี 2564 เพิ่มอีก 1.4-1.9%

อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนผันผวนตามวัฏจักรเศรษฐกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะราคาเหล็กที่ปรับตัวตามกลไกอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก โดยในช่วงที่ผ่านมาราคาเหล็กมีแนวโน้มลดลงในช่วง 2 ปีหลัง  เนื่องจากสถานการณ์เหล็กล้นตลาดตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 เกิดสถานการณ์ขาดแคลนแร่เหล็ก (Supply shortage) ในประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก  จากการที่หลายโรงถลุงแร่เหล็กถูกปิดตัวลงจากการพบผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กอปรกับการที่จีนควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วและรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ความต้องการเหล็กทั่วโลกสูงขึ้นและนำไปสู่ราคาเหล็กที่สูงขึ้นตาม ส่งผลให้ในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ราคาเหล็กในไทยปรับตัวขึ้นกว่า 10-20%  เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

โดยสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะคลี่คลายขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เนื่องจากทางการจีนได้ออกนโยบายเพื่อลดภาวะการขาดแคลนแร่เหล็กโดยการอนุญาตให้นำเข้าเศษเหล็ก (Scrap) เพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการหล่อเหล็กควบคู่ไปกับการใช้แร่เหล็ก  ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ต้นทุนการก่อสร้างน่าจะเพิ่มจากปี 2563 อีก 1.41-1.94% ซึ่งต้นทุนหลักเพิ่มขึ้นจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยหากสถานการณ์ขาดแคลนของแร่เหล็กดีขึ้น หรือหากมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย ต้นทุนที่เกิดจากความผันผวนของราคาเหล็กและการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างอาจจะหายไป

ผลกระทบทางด้านอื่นต่อผู้รับเหมาและแนวทางในการรับมือ

จากการที่งานรับเหมาก่อสร้างเป็นงานที่มีอัตรากำไรที่ต้องระบุในสัญญาชัดเจน ตั้งแต่วันที่เริ่มทำสัญญาก่อสร้าง ทำให้เมื่อเกิดต้นทุนระหว่างการก่อสร้างผู้รับเหมาจำเป็นต้องรับความเสี่ยงนั้น ยกเว้นงานก่อสร้างของรัฐบาลที่จะมีตัวปรับราคาความเปลี่ยนแปลงของต้นทุนก่อสร้างหรือ K factor  ให้ นอกจากนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างยังมีอัตรากำไรที่ไม่สูงมากนัก หรือประมาณ 5-15% ต่อมูลค่าโครงการ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของสัญญาการก่อสร้างและราคาการประมูลงาน ทำให้ผู้รับเหมาแต่ละรายได้รับผลกระทบจาก

โควิด-19 ไม่เท่ากัน เนื่องจากรูปแบบความยากง่ายในแต่ละโครงการก่อสร้างไม่เหมือนกันและขนาดของบริษัทเองก็มีผล โดยผู้รับเหมาขนาดใหญ่น่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าผู้รับเหมารายเล็ก เนื่องจากผู้รับเหมารายใหญ่มีต้นทุนถูกกว่าในหลายด้าน ได้แก่ ต้นทุนทางการเงินในการกู้เงินจากธนาคาร การซื้อวัสดุก่อสร้างในราคาถูกกว่าเนื่องจากซื้อในปริมาณมากกว่า (Economy of scale) และความยืดหยุ่นบริหารคลังวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น โดยผู้รับเหมารายเล็กมีแนวโน้มที่จะรับมือกับต้นทุนที่เกิดขึ้นได้น้อยกว่าผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เนื่องจาก สายป่านและกระแสเงินสดที่มีความคล่องตัวน้อยกว่า รวมถึงเทคโนโลยีและรูปแบบในการก่อสร้างที่ปรับเปลี่ยนได้น้อยกว่า ส่งผลให้ไม่สามารถประมูลงานที่มีความซับซ้อนมากได้ จากข้อจำกัดต่างๆ ดังกล่าว จึงอาจจะมีการตัดราคาในการประมูลงานก่อสร้าง เพราะผู้รับเหมาต้องการกระแสเงินสดเพื่อหล่อเลี้ยงบริษัทแม้จะยอมขาดทุนในบางงานก็ตาม

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ที่อาจจะได้รับเงินสดล่าช้า และอาจจะมีการลดราคาวัสดุก่อสร้างด้วยเปอร์เซ็นต์ที่มากหากต้องการไม่ให้เกิดสินค้าค้างสต็อกและเพื่อเป็นการรักษากระแสเงินสดให้ธุรกิจตัวเอง ผู้ว่าจ้างเองอาจจะได้รับผลกระทบต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้มีเงินจ่ายผู้รับเหมาช้าขึ้นและส่งผลกระทบต่อไปยังผู้ขายวัสดุก่อสร้าง

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

จากการที่รูปแบบสัญญาก่อสร้างมักระบุให้ผู้รับเหมารับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการก่อสร้างตลอดช่วงอายุสัญญา ทำให้ผู้รับเหมาจะถูกปรับเงิน (Late penalty) หากไม่สามารถก่อสร้างอาคารเสร็จได้ตามกำหนดระยะเวลา แต่ผู้รับเหมาสามารถขอเจรจาเพื่อขอยืดอายุงานออกไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของสัญญาและการเจรจากับผู้ว่าจ้าง ดังนั้นผู้รับเหมาควรมองหาทางเลือกในการปรับตัว

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้รับเหมาอาจจะพิจารณาทางเลือกทางการเงินและการกำจัดความเสี่ยงที่สามารถทำได้เลยทันทีและไม่ได้มีต้นทุนที่สูงมากนัก เช่น การทำประกันการก่อสร้าง ในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันเวลาซี่งต้นทุนประกันขึ้นอยู่กับชนิดของโครงการ ขนาดโครงการ ระยะเวลาในการก่อสร้าง และเครดิตทางการเงินของผู้รับเหมาเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีที่มีเหตุไม่คาดคิดหรือมีโรคระบาดอีกรอบ ทำให้ผู้รับเหมาไม่ต้องรับความเสี่ยงของการถูกปรับเงินจากการที่ระยะเวลาการก่อสร้างถูกเลื่อนหรือทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ผู้รับเหมาอาจจะพิจารณาการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้การก่อสร้างรวดเร็วขึ้นและลดความหนาแน่นของคนในสถานที่ก่อสร้างได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น คอนกรีตสำเร็จรูป (Pre-cast) แต่อาจจะมีต้นทุนในการปรับตัวกับการก่อสร้างรูปแบบนี้สำหรับรายที่ยังไม่เคยทำ เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะทาง ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Pre-cast ที่ขายวัสดุพร้อมบริการติดตั้งแต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ปัญหาที่เกิดจากโควิด-19 และแนวทางการรับมือของผู้รับเหมา

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*