ครม.เห็นชอบยกเว้นค่าธรรมเนียมภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ช่วยบรรเทาภาระผู้ถูกเวนคืนอสังหาฯ มีผลตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2562 ด้านคลังอาจสูญรายได้ยากต่อการประเมิน เหตุไม่มีข้อมูลการเวนคืนอสังหาฯในอนาคต แต่รัฐมีภาระงบประมาณเงินค่าทดแทนลดลงเนื่องจากผู้ถูกเวนคืนจะไม่เรียกค่าทดแทนเพิ่มเติม

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 มีนาคม 2564 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ 22 เรื่องและมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในหัวข้อที่ 1 เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 โดย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 11 กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์ ดังนี้

2. ต่อมาพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ประกอบกับมาตรา 25 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนกับพนักงาน เจ้าหน้าที่ และการโอนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และค่าอากรแสตมป์ โดยให้ดำเนินการตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ กฎหมายยกเว้นภาษีสำหรับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันได้มีการยกเว้นภาษีในกรณีอื่น ๆ แล้ว แต่ยังไม่มีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่นิติบุคคลและการยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

3. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้

3.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีจำนวนหนึ่งแต่ไม่สามารถประมาณการได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต

3.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
(1) ภาครัฐสามารถดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
(2) ผู้ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 จะได้รับการบรรเทาภาระทางภาษี
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับที่เป็นเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป (อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ)

2. ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากขายหรือการถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป (อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ)

3. แก้ไขมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 295) พ.ศ. 2539 โดยตัดการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายรับที่เป็นเงินค่าทดแทนเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ขอรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวออก เนื่องจากรวมอยู่ในการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามข้อ 1 แล้ว แต่ยังยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงิน ค่าทดแทนดังกล่าว เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ขอรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว

4. กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 295) พ.ศ. 2539 ที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกานี้ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2562

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*