ออริจิ้นฯรุกขยายไลน์ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ หวังเข้าประมูลหนี้ที่มีหลักประกัน จากสถาบันการเงิน เน้นที่ปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้-หาช่องทางในการช่วยหารายได้ ด้านธุรกิจที่อยู่อาศัยประกาศเปิดตัวใหม่ 20 โครงการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท ตั้งเป้ากวาดยอดขายรวมปีนี้แตะ 29,000 ล้านบาท รับรู้รายได้รวม 14,000 ล้านบาท เติบโต 26%
นายพีระพงศ์ จรูญเอก
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI  เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 2564 ว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการนำวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามา  แต่ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นความท้าทายของบริษัทในเรื่องของการบริหารจัดการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการยื่นขอสินเชื่อให้ผ่าน ทำให้ลูกค้าสามารถโอนโครงการได้ แต่ในส่วนของบริษัทฯเองก็จะรุกในธุรกิจใหม่ๆใน 3 กลุ่มหลัก โดยใช้งบลงทุนไว้ที่ 2,000 ล้านบาท จากงบลงทุนรวมทั้งปี 10,000 ล้านบาท ได้แก่

1.ธุรกิจเฮลท์แคร์ โดยบริษัทได้ตั้งบริษัทร่วมทุน คือ บริษัท ออริจิ้น เฮลท์แคร์ จํากัด ซึ่งร่วมทุนกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ที่จะเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจทั้งศูนย์ความงาม และศูนย์สุขภาพ โดยที่ศูนย์ความงามบริษัทจะเปิดตัวภายในปีนี้ คือ Cheva+ สาขาเมอคิวรี่ พื้นที่ 200 ตารางเมตร และวางแผนจะเปิดให้ครบ 10 สาขา ภายในปี 2566  และอยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์สุขภาพ 2 แห่ง คือที่แบริ่ง เตรียมเปิดตัวในปี 2565 และรามอินทรา เตรียมเปิดตัวในปี 2566

2.ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ด้วยการจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ พรอมมิเนนท์ จํากัด ขึ้นมา และได้ยื่นขออนุญาตปนะกอบธุรกิจดังกล่าวกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 โดยที่บริษัทจะเข้าประมูลหนี้ที่มีหลักประกัน (Secure loan) จากสถาบันการเงินต่างๆที่เปิดประมูลออกมา โดยรูปแบบการดำเนินธุรกิจ AMC ของบริษัทจะเน้นที่ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และหาช่องทางในการช่วยหารายได้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้ได้ เช่น การหาผู้เช่าให้ หรือการหาคนมาซื้อต่อ เป็นต้น โดยระหว่างที่รอใบอนุญาต บริษัทได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับ AMC และสถาบันการเงิน ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกหนี้และการรีโนเวททรัพย์ของพันธมิตร โดยที่บริษัทเตรียมเปิดตัวทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจดังกล่าวในเร็วๆนี้  รวมทั้งประมูลหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตมูลค่า 800-1,000 ล้านบาท โดยใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท

“ตอนนี้ อยู่ระหว่างยื่นขอ License ในการดำเนินธุรกิจกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าไปซื้อหนี้และทรัพย์สินรอการขายมาบริหาร โดยในระยะแรกก่อนได้ใบอนุญาตเราจะเข้าไปช่วยบริหารหนี้ และเมื่อได้ License  ก็จะเข้าไปซื้อพอร์ตมา คาดว่าภายในไตรมาส 3/2564  จะเข้าไปประมูล 400-500 ล้านบาท หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของราคาตลาด โดยพอร์ตหนี้ที่เข้าไปจะเป็นประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประเภทคอนโดฯ บ้าน เช่น หากเราเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ หาผู้เช่า หรือช่วยขายห้องชุดได้ ก็จะเบ่งเบาภาระลูกหนี้ได้” นายพีระพงศ์ กล่าว

3.กลุ่มธุรกิจศูนย์โลจิสติกส์ ดำเนินกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์

ด้านธุรกิจโรงแรมแม้ว่าจะเผชิญกับผลกระทบของโควิด-19 แต่บริษัทยังเชื่อว่าธุรกิจโรงแรมจะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งหลังจากที่บริษัทเปิดโรงแรมใหม่ไปเมื่อปีก่อนที่ทองหล่อและศรีราชา ซึ่งมีอัตราการเข้าพักใระดับที่ดีที่ 50% และยังมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในทำเลที่ดีอีก 3 โรงแรม จำนวน 1,000 ห้อง ได้แก่ ทองหล่อ ,สุขุมวิท 24 และพญาไท ซึ่งหากพัฒนาโรงแรมครบถ้วนแล้วบริษัทจะขึ้นเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมารัพย์ที่มีจำนวนห้องโรงแรมสูงถึง 3,000 ห้อง และติด Top5 ของผู้ประกอบที่มีโรงแรมในประเทศที่มีจำนวนห้องมากที่สุด

สำหรับแผนการลงทุนในกลุ่มโครงการที่อยู่อาศัยนั้น ในปีนี้จะมีการเปิดตัวใหม่จำนวน 20 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบจำนวน  11 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 10,400 ล้านบาท หรือสูงติดระดับท็อปของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลุ่มแนวราบในปีนี้ ตอกย้ำความแข็งแกร่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และการขยายตลาดในปีนี้ มุ่งเน้นการเติบโตในทำเลใหม่ๆ โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯที่ยังมีดีมานด์สูง เพื่อเป็นรากฐานสู่การเปิดโครงการสะสมจนครอบคลุม 10 จังหวัดในปี 2565 ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่ เพื่อแสดงตัวตนและสื่อถึงความเป็นผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ในยุคนี้

และแนวสูง 9 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 9,600 ล้านบาท เกาะแนวรถไฟฟ้าและโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยมีแบรนด์ใหม่ถึง 4 แบรนด์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ได้แก่

1.ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ (Origin Plug & Play) เจาะตลาดกลุ่ม Gen Y และ Gen Z โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำสตาร์ทอัพของตัวเอง โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะกับคนกลุ่มดังกล่าว

2.บริกซ์ตัน (Brixton) แบรนด์ราคาเข้าถึงง่าย สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Affordable Niche) คอนเซ็ปต์แต่ละโครงการ อาจเจาะลูกค้าแตกต่างกันไป เช่น เจาะกลุ่มนักศึกษา-คนทำงานใกล้มหาวิทยาลัย (Campus) เจาะกลุ่มคนรักสัตว์ (Pet Lover)

3.แฮมป์ตัน (Hampton) แบรนด์คอนโดเจาะตลาดนักลงทุนโดยเฉพาะ โดยมีสิทธิพิเศษและการันตีผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อ นำร่องในศรีราชาและระยอง

4.ออริจินอล (Original) คอนโดสำหรับเจาะตลาดผู้สูงอายุ (Silver Age)

“11 ปีของออริจิ้น เราพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมสะสมถึงกว่า 110,000 ล้านบาท โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะเราคิดเร็ว ปรับตัวเร็ว และพัฒนาสินค้าและบริการคุณภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในยุคใหม่ได้ดีอยู่เสมอ เมื่อ 4 แบรนด์ใหม่นี้ ประกอบกับแบรนด์ดั้งเดิมทั้งดิ ออริจิ้น ไนท์บริดจ์ โซโห แบงค็อก และพาร์ค ออริจิ้น จะช่วยให้เราขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากขึ้น” นายพีระพงศ์ กล่าว

โดยที่ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายรวมที่ 29,000 ล้านบาท และรับรู้รายได้รวมที่ 14,000 ล้านบาท เติบโต 26% จะมีการรับรู้รายได้จากมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) ราว 12,800  ล้านบาท จาก Backlog ทั้งหมดที่มี 35,800 ล้านบาท

 

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*