สังคมผู้สูงอายุกำลังจะทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตามติดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว โดยในส่วนของประเทศไทยเริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี 2548 และกำลังเตรียมนับถอยหลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2567 หรือในอีก 3 ปีนับจากนี้ และจะขยับเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์อย่างเต็มที่ (Super-Aged Society)ในปี 2573

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัทลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom)  ในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 21% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2573 ทำให้การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะงานด้านบริการ ที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

จากผลสำรวจและวิจัยพฤติกรรมผู้สูงอายุในปี 2563 ของทีมพัฒนางานบริการของ LPN Wisdom ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ที่พักอาศัยอยู่ในอาคารชุดภายใต้การบริหารของบริษัทลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด(LPP) เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน และมากกว่า 70% ของจำนวนผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ 1-2 คนในห้องชุดขนาด 26-30 ตารางเมตร

โดยลูกค้ากลุ่มนี้มีพฤติกรรมและความต้องการงานบริการที่แตกต่างไปจากเดิม ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ 4 ปัจจัยหลัก คือ  การดูแลสุขภาพ (Health), การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัย (Living Environment), การให้ความสำคัญกับโภชนาการอาหาร (Food), และมีความสนใจในการใช้เทคโนโลยี (Technology) มากขึ้น

ด้านสุขภาพ (Health): จากข้อมูลผู้สูงอายุของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า 49% ของผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว2 -5 โรคต่อคน ส่วนใหญ่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต และโรคมะเร็ง ทำให้ผู้สูงอายุมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพเพื่อการรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ต่อเนื่องและยาวนาน

จากการสำรวจของ LPN Wisdom ในปี 2563 สามารถแบ่งระดับสุขภาพผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับ  ประกอบด้วย

  • ระดับที่ 1 ช่วงอายุ 60-69 ปี: เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมทั้งในและนอกบ้านได้ตามปกติ แต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพในอนาคต หากไม่ป้องกัน
  • ระดับที่ 2 ช่วงอายุ 70-79 ปี: เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่เริ่มมีการเสื่อมถอยของร่างกายหรือมีปัญหาด้านสุขภาพบ้างเล็กน้อย แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อาจต้องการอุปกรณ์หรือผู้ช่วยในบางครั้ง
  • ระดับที่ 3 อายุ 80 ปีขึ้นไป: เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกน้อยลง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในบางกิจกรรม ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ และผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน

จากข้อมูลดังกล่าวถือเป็นโอกาสของงานบริการที่สามารถตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละช่วงอายุในด้านสุขภาพ ประกอบด้วย งานบริการผู้ดูแลผู้สูงอายุ, บริการเฉพาะกิจรับ-ส่งผู้สูงอายุไปยังโรงพยาบาล, บริการพาไปท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบมาใช้ประกอบอาหาร รวมทั้งการดูแลผู้สูงอายุในระยะที่ 2 และ 3 ในรูปแบบของสถานบริบาล(Nursing Home) ที่อยู่เฉพาะผู้สูงอายุ(Residential Home)

รวมถึงบริการส่งผู้ดูแลไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน(Health at Home) สถานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ รวมไปถึงสถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล และสถานดูแลระยะสุดท้าย ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

ด้านสภาพแวดล้อม(Living Environment):  จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และมลพิษจากฝุ่นละออง PM2.5  ทำให้ผู้สูงอายุมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ในที่อยู่อาศัยเป็นหลักแทนการเดินทางออกไปพักผ่อนหรือพบปะเพื่อนฝูงภายนอกที่พักอาศัย

จากการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่า 80% ของกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำอยู่ในที่พักอาศัย คือ ฟังวิทยุ ดูทีวี อ่านหนังสือ และมากกว่า 35% ใช้ Social Media ในการติดตามข่าวสาร และสนทนากับสมาชิกในครอบครัว

ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุพึงพอใจที่จะพักอาศัยในสถานที่ที่สงบร่มรื่น และมีพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุเมื่อต้องทำกิจกรรมอยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก

ส่วนงานปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ จากการสำรวจพบว่า  ผู้สูงอายุให้ความสำคัญและใช้งาน 3 พื้นที่นี้บ่อยที่สุด คือห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่ครัว ทำให้งานบริการปรับพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายมีความจำเป็น เช่น การติดตั้งราวจับทรงตัวเฉพาะในจุดที่ใช้งานประจำ เปลี่ยนวัสดุปูพื้นเป็นแบบเรียบแต่ไม่ลื่น นุ่มแต่ไม่ยวบ

การเปลี่ยนและปรับระดับเฟอร์นิเจอร์บางชนิดในห้อง ติดตั้ง ไฟอัตโนมัติพร้อมเซ็นเซอร์ บริเวณเตียงและทางเดิน เพื่อช่วยนำทางให้ผู้สูงอายุลุกเดินไปห้องน้ำในเวลากลางคืน  การติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือในห้องน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที และงานบริการออกแบบมุมปลูกผักสวนครัวในห้อง

ด้านโภชนาการอาหาร (Food): ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้สูงอายุในอาคารชุดปี 2563 พบว่า 95% ของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุเป็นการใช้จ่ายเพื่ออาหารเป็นหลัก และเป็นการซื้ออาหารมาปรุงเอง แทนการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่รับประทานอาหารเป็นยาเพื่อรักษาสุขภาพ

จึงเป็นโอกาสำหรับการพัฒนาธุรกิจด้านอาหารเพื่อสุขภาพที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุที่กำลังจะเป็นประชากรที่มีจำนวนประมาณ  1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2573 ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ด้านเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ (Technology): จากผลการสำรวจของ LPN Wisdom พบว่า พฤติกรรมผู้สูงอายุในปัจจุบันมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียประมาณ 35% เพื่อติดตามข่าวสารภายนอกหรือใช้สนทนากับครอบครัว และผู้สูงอายุกว่า 80% นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 3 ครั้งต่อเดือน แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน และผู้สูงอายุยังให้ความสนใจใน Gadget อย่างสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอขนาดใหญ่หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในที่พักอาศัยมากขึ้น เพื่อตอบรับการใช้งานได้ในทุกกิจกรรม

ดังนั้นเทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญที่เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการดูแลผู้สูงอายุโดยสมาชิกในครอบครัวได้ง่ายขึ้น  เช่น การทำ QR Code ข้อมูลส่วนตัวของผู้สูงอายุ กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินทำให้ผู้ช่วยเหลือสามารถสแกนข้อมูลและติดต่อไปยังญาติได้ การพบแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ ระบบปุ่มฉุกเฉินแบบไร้สายที่สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังญาติด้วยข้อความและภาพวิดีโอผ่าน Internet Cloud Server และส่งต่อไปยังสมาร์ทโฟนเพื่อประสานขอความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว

จึงเป็นโอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มผู้ใช้งานที่มีกำลังซื้อสูงเมื่อเทียบกับลูกค้าในกลุ่มอายุอื่นๆ ในปัจจุบัน

นายประพันธ์ศักดิ์กล่าวเสริมว่า การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้สูงอายุที่มีความต้องการงานบริการที่มีคุณภาพสูง ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 300,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17.9% ของจำนวนประชากรผู้สูงอายุโดยเฉลี่ย

นอกจากนี้เมืองไทยยังเป็นประเทศที่กลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาอยู่อาศัยเป็น Retirement Country โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 90,000 คน มีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อเดือน ถือเป็นอีกกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อสูงหลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติให้วีซ่าระยะยาว 10 ปี สำหรับผู้มีเงินฝากไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท ดังนนั้นการทำธุรกิจบริการเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*