การระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 2และระลอก3ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและ SMEs  เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) ช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

เริ่มต้นด้วยการขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ หลังจากมาตรการเดิมได้ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น กรณีสินเชื่อสวัสดิการ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง

โดยให้ผู้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยจำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและหรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น

รวมทั้งให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม และชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan

ล่าสุดจากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  ระลอกใหม่ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจเพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว

ธอส.ช่วยลูกหนี้พักจ่ายเงินต้น
ลดดอกเบี้ย จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน
ล่าสุดในวันนี้คณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้มีมติเห็นชอบออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด -19 ระลอกใหม่ ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ ปี 2564” 2 มาตรการ คือ  มาตรการที่ 13 พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และมาตรการที่ 14 พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี สำหรับลูกหนี้ที่สถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้  

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.จะเปิดโอกาสให้ลูกค้า ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 13 และมาตรกาที่ 14 ผ่านแอปพลิเคชัน GHB ALL ระหว่างวันที่ 11-29 พฤษภาคมนี้  โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโควิด -19 พร้อมกับอัปโหลดหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือสเตจเม้นท์ เป็นต้น ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th 

ส่วนรายละเอียดของมาตรการที่ 13  พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2564 สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ คือ ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้ โดยจะครอบคลุมทั้งลูกค้าที่ไม่เคยหรือเคยใช้ หรืออยู่ระหว่างใช้มาตรการความช่วยเหลือเดิมของธนาคาร และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 รวมถึงยังไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญาเงินกู้

และมาตรการที่ 14  พักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90% ต่อปี ระยะแรกเป็นเวลา 3 เดือน(1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2564) สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะพ้นสิทธิการปรับโครงสร้างหนี้ที่ใช้อยู่หากใช้มาตรการที่ 14 และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจ,การค้า เนื่องจาก COVID-19 และไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดให้ธนาคารได้ตามสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้หรือตามคำพิพากษา

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มสินเชื่อบ้านและสินชื่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระเงินต้นได้สูงสุด 3 เดือน พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 3เดือน และมาตรการช่วยเหลือกลุ่มสินเชื่อบุคคล ด้วยการปรับลดค่าวดผ่อนชำระไม่ต่ำกว่า 30% ของค่างวดเดิม รวมถึงสามารถเปลี่ยนวงเงินหมุนเวียนเป็นผ่อนชำระค่างวดสูงสุดไม่เกิน 48 เดือน  ทั้งนี้เฉพาะลูกค้าที่ไม่มีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วันหรือก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2564  โดยกำหนดระยะเวลาของมาตรการทั้งหมดจะสิ้นสุดภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ด้านธนาคารกสิกรไทย นอกเหนือจากมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้ประเภทต่าง ๆ ที่ธนาคารกำหนด โดยที่ลูกค้ายังสามารถใช้วงเงินบัตรที่เหลือได้ แต่ลูกค้าต้องใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันในการเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ แบงก์กสิกรไทยยังได้ออกมาตรการใหม่สำหรับลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มสินเชื่อบ้าน  มี 3 ทางเลือกให้กับลูกค้า คือ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยและลดดอกเบี้ยลงอีก 0.1% เป็นเวลา 3เดือน ลดค่าวด50% ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 3 เดือน และพักชำระเงินต้นและดอกบี้ย 3 เดือน  โดยจงะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 มิถุนายนนี้

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*