โครงการ The Forestiasของ MQDC มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ต่างๆ ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในรอบแรกเมื่อปี 2563 ประชาชนได้รับผลกระทบและตกงานจำนวนมาก ทางโครงการฯจึงได้ร่วมกับพันธมิตร อันได้แก่ กรมป่าไม้ มูลนิธิพุทธรักษา และเครือข่ายผู้ให้ The Givers Network ร่วมสร้างรายได้และเป็นส่วนหนึ่งใรการช่วยเหลือ ผ่านแนวคิดของโครงการ มอบกล้าไม้ไปให้ชุมชนดูแลเพื่อช่วยบรรเทาปัญหา โดยการมอบเงินทุนให้ชุมชนระหว่าง ดูแลอภิบาลกล้าไม้เป็นเวลาประมาณ 90 วัน

มีเงื่อนไขว่า ชุมชนที่เข้าร่วมต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบ  ขาดรายได้และไม่ได้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือของรัฐ  โดยร่วมกันจัดหาพื้นที่วางกล้าไม้ ประมาณ 10- 20 ตารางเมตร สำหรับดูแลกล้าไม้ อาทิเช่น ไม้สัก มะค่าโมง ประดู่ป่า ตะเคียนทอง มะฮอกกานี ชิงชัน แคนา พะยูง และ พืชสวนครัวที่ดูแลง่ายและมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งสะดวกในการดูแลมีศัตรูพืชน้อย สามารถนำมาบริโภคในครัวเรือนช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และหากมีเหลือพอชุมชนสามารถนำไปจำหน่ายเพิ่มรายได้อีกทาง  

กิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ และคีรินทร์ ชูธรรมสถิตย์ ร่วมปลูกต้นไม้ในชุมชนวัดทุ่งเหียง

จนวันนี้ได้มาถึงเวลาที่ครบวงจรตามวัตถุประสงค์ การสร้างรายได้ให้กับครอบครัวต่างๆ ในชุมชน โดยได้สร้างรายได้ให้กับ 1,000 ครอบครัว และได้มีการมอบกล้าไม้ที่นำกลับมาจากการดูแลของครัวเรือนในชุมชนต่างๆ ไปแจกจ่ายยังชุมชนที่ต้องการสร้างพื้นที่สีเขียว และล่าสุดได้ปิดโครงการในรอบนี้ โดยการมอบกล้าไม้จำนวน 300,000 ต้นให้กับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปปลูกตามสวนสาธารณะต่างๆ

นายกิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส โครงการ The Forestias by MQDC บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า “การที่เราได้จัดทำโครงการ Forest for Life สร้างป่า สร้างชีวิต และดำเนินงานมาจนสำเร็จตามเป้าหมาย นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ขยายแนวคิดในการสร้างพื้นที่สีเขียวนี้ออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น ต้นไม้ที่เหลือจากการบริจาคแล้ว เราจะนำมาปลูกต่อไปในป่าของโครงการ The Forestias by MQDC ที่บางนากิโลเมตรที่ 7 ซึ่งถือว่าเป็นป่าที่แท้จริงที่อยู่ใจกลางเมือง”

ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ รองประธานมูลนิธิพุทธรักษา กล่าวว่า มูลนิธิพุทธรักษา และเครือข่ายผู้ให้ The Givers Network ได้ร่วมสรรหา และได้ทยอยคัดเลือกชุมชนที่เข้าร่วมกับโครงการ จนถึงจบโครงการรวมทั้งหมด 27 ชุมชน หรือ 1,000 ครอบครัว เพื่อดูแลต้นกล้าประมาณ 1,000,000 ต้นและได้มอบเงินช่วยเหลือตอบแทนการดูแลกล้าไม้แก่ชุมชนตามงบประมาณที่ตั้งไว้คือ ครอบครัวละ 15,000 บาท รวมจำนวน 15 ล้านบาท และได้ช่วยสนับสนุนค่าต้นกล้าแก่ชุมชนที่มีอาชีพเพาะกล้าไม้ในพื้นที่ๆ ได้เข้าไปทำโครงการ ประมาณ 10 ล้านบาท รวม 25 ล้านบาท

“ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่โครงการนี้มุ่งเพิ่มทักษะอาชีพเกี่ยวกับกล้าไม้ อบรมโดยครูป่าไม้จากกรมป่าไม้และเสริมด้วยปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น มุ่งให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ในระยะสั้น ในระยะยาว มีส่วนช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย เราได้รับการตอบรับที่ดีจากชุมชน โดยชุมชนมีความพอใจในการได้ร่วมดูแลต้นไม้และได้รับรายได้เป็นการแบ่งเบาภาระค่าดำรงชีพ และบางครอบครัวได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัวและในชุมชนกลับคืนมา บางแห่งก็มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเป็นอาชีพได้ในระยะยาว”

เนื่องจากโครงการ Forest for Life เป็นโครงการที่ได้ผลทั้งด้านการสร้างจิตสำนึกในการรักต้นไม้ การสร้างรายได้ให้ครอบครัวที่เดือดร้อน การสร้างความสามัคคีในชุมชน และสร้างพื้นที่สีเขียว การปิดโครงการในครั้งนี้จึงเป็นเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากการระบาดของโควิดรอบแรก แต่ในอนาคตโครงการนี้  จะยังมีต่อไปเมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ และมีแนวคิดที่หมาะสมสอดคล้องกัน  

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*