.ทิศทางตลาดอสังหาฯกรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2564 มีภาวะชะลอตัวต่อเนื่องมาจากปี 2563
.ครึ่งปีแรก ตลาดหดตัวเล็กน้อย 1-4%
.ครึ่งปีหลัง เริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่ดีขึ้นมาก ต้องรอการฟื้นตัวถึงปี 2565-2567

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลในปี 2564ว่า ยังคงมีภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2563 โดยมีปัจจัยกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ตลาดรวมมีภาวะหดตัวประมาณ 1- 4% และคาดว่าตลาดจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังไม่ดีขึ้นมาก

โดยประเมินว่าภาพรวมปีนี้จะมีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ประมาณ  59,600 ยูนิต ลดลง 10%จากปีที่แล้ว และมีมูลค่าโครงการรวม 308,400 ล้านบาท ลดลง 7.7% โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ จำนวนยูนิตที่เปิดขายใหม่จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ประมาณ 9.72% ส่วนช่วงครึ่งปีหลังจะลดลงกว่า10.3%

ขณะที่ตลาดบ้านจัดสรรราคา10 ล้านบาทขึ้นไป ยังมีอุปทานเพิ่มขึ้น และมีความต้องการซื้อต่อเนื่อง โดยประเมินได้จากยอดขายปี 2563 เฉลี่ยประมาณ 1,200 ยูนิตต่อทุกครึ่งปี  ขณะที่จำนวนยูนิตเหลือขายสะสมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ส่วนบ้านจัดสรรราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ยังเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อสูงแต่มีสินค้าอยู่ในตลาดน้อย ทำให้ผู้ประกอบการได้ปรับแผนจากการพัฒนาบ้านเดี่ยวหันมาสร้างบ้านแฝดแทน แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนซื้อมากนัก เมื่อเทียบกับทาวน์เฮ้าส์ ที่มีความต้องการซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่ในทำเลดี แต่จำนวนยูนิตเหลือขายของทาวน์เฮ้าส์ในตลาดยังคงมีอยู่มากเช่นกัน

ด้านตลาดอาคารชุดยังเป็นการเร่งระบายสต็อกห้องชุดที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะห้องชุดเหลือขายที่เป็น Inventory ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2562 ดังนั้นการเปิดโครงการใหม่ในปีนี้จึงมีความเสี่ยง โดยเฉพาะห้องชุดราคาเกิน 5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลฯประเมินว่า ปีนี้จะมีจำนวนสินค้าเหลือขายสะสมประมาณ 174,773 ยูนิต คิดเป็นมูลค่ายูนิตเหลือขายประมาณ 853,400 ล้านบาท ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังปี 2563  ส่วนยอดขายปีนี้คาดว่าจะมีจำนวน 69,996 ยูนิต มูลค่าประมาณ 310,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*