เฟรเซอร์สฯเผยธุรกิจอาคารคลังสินค้าสมัยใหม่กำลังได้รับความนิยมสูง เติบโตประมาณ 4-5% ต่อปี จากการขยายตัวของ eCommerce เผยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงธุรกิจมาจาก 3 ปัจจัย กางโรดแมป 5 ปี ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ “น่านน้ำสีม่วง” รุกอัดเม็ดเงินขยายพื้นที่เช่าคลังสินค้าในไทย-ตปท.ร่วม 17,500 ล้านบาท ตั้งเป้ามีอัตราการเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 85-90% ต่อปี ด้านที่ดินย่านบางนากว่า 4,700 ไร่ อยู่ระหว่างเจรจานักลงทุนรายใหญ่ มั่นใจกวาดรายได้ตามเป้า 4,000 ล้านบาท จากเป้ารายได้รวมของ FPT ที่ 20,000 ล้านบาท
 นายโสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล(ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPIT  ในเครือบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) หรือ FPT เปิดเผยว่า ภายหลังจากปี 2560 ที่ทางกลุ่ม Frasers Property Limited และ TCC ได้เข้ามาเพิ่มทุนและถือหุ้นในบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  TICON รวมกันกว่า 80% แล้วจึงได้ควบรวม TICON และบริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ หรือ GOLD  ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บ้านแนวราบและอาคารพาณิชยกรรม ให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ Frasers Property Thailand ในปี 2563 ที่ผ่านมา

“หลังจากนั้น FPT จึงได้จัดบ้านใหม่ จัดทัพเรือใหม่ ตั้งสายเรือทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมขึ้น ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ว่า Frasers Property Industrial Thailand หรือ FPIT ในวันนี้ ดังนั้น FPIT คือ TICON คือ TPARK เราไม่ได้เป็นน้องใหม่ หรือ ชื่อใหม่ในวงการ แต่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มากว่า 30 ปี ปัจจุบัน FPIT มีทรัพย์สินที่เป็นอาคารภายใต้การบริหารจัดการรวม 3 ล้านตารางเมตร(ตร.ม.) หรือกว่า 900 ยูนิต กระจายอยู่ใน 15 จังหวัดหลักที่เป็นหัวใจของการพัฒนาอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ของประเทศ” นายโสภณ กล่าว

โดยสินค้าของบริษัทฯประกอบด้วย อาคารโรงงานพร้อมใช้ หรือที่เรียกว่า Ready Built Factory (หรือ RBF) ประมาณ 1.2 ล้านตารางเมตร(ตร.ม.) และอีกกว่า 1.8 ล้านตารางเมตร เป็นอาคารคลังสินค้าสมัยใหม่สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ โดยทั้งหมดเป็นอาคารเพื่อปล่อยเช่า ดังนั้นรายได้หลักของบริษัทคือรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตของพื้นที่อาคารสร้างใหม่ในแต่ละปี ไม่น้อยว่า 100,000 ตารางเมตร ในรูปแบบ Built to Suit หรือการพัฒนาอาคารตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งถือว่าเป็นทิศทางการพัฒนาใหม่ของบริษัทนับตั้งแต่ Frasers Property เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ FPIT ยังเป็น Sponsor หลักให้แก่ Frasers Property Thailand Industrial REIT หรือ FTREIT ซึ่งปัจจุบันเป็นกองรีทที่มีทรัพย์สินรวมกว่า 45,000 ล้านบาท ถือเป็นกองรีททางด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน

“เราได้สั่งสมประสบการณ์จากการเดินทางผ่านน่านน้ำมาหลายหลาก ประสบการณ์เหล่านั้น ได้สร้างความเข้มแข็ง และพื้นฐานที่ดีให้กับธุรกิจ และวันนี้เรากล้าที่จะบอกว่าเราแตกต่างจากคนอื่น และเราพร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อความเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ต่อไป ตลอดเวลาเรายังเดินหน้า เพื่อเข้าไปหาปลาใน Blue Ocean อย่างต่อเนื่อง แต่แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป เกิดโอกาสทางธุรกิจ ก็ย่อมมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ธุรกิจเริ่มเข้าสู่ Red Ocean ที่เน้นการแข่งขันทางด้านราคา  FPIT ไม่สามารถอยู่เฉยและยินดีกับความสำเร็จที่ผ่านมา” นายโสภณ กล่าว

นายโสภณ กล่าวต่อถึงภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม ณ วันนี้ว่ากำลังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของธุรกิจนี้ในหลายๆ ด้าน โดยในระดับภาพรวมของโลก Industrial Property ถือเป็นทรัพย์สินเพื่อการลงทุน หรือ Investment Grade Property ที่กำลังแรง นักลงทุนและผู้พัฒนาเริ่มหันมาพัฒนาอาคารอุตสาหกรรมเพื่อปล่อยเช่า แทนที่แต่ละคนจะลงทุนพัฒนาเพื่อเพียงใช้กันเอง การพัฒนาเพื่อให้เช่าสามารถเก็บรายได้ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่มีความเสี่ยงสูง โดยมูลค่าของธุรกิจนี้ทั่วโลกขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะอาคารคลังสินค้าสมัยใหม่กำลังได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ eCommerce

จากสถิติของบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ JLL ในปี 2563 ที่ผ่านมา ในเอเชียมีการเช่าอาคารคลังสินค้าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 30% เปรียบเทียบกับปี 2562 ในขณะที่ฝั่งอเมริกาและยุโรปก็เพิ่มขึ้น 21% และ 16% ตามลำดับ  ส่งผลให้อัตราการเช่า หรือ Occupancy rate ในอเมริกาและยุโรปปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก สิ้นปี 2563 ที่ผ่านมาตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นถึง 95%

และหากพิจารณา Transaction การซื้อขายอาคารอสังหาริมทรัพย์อุตสาหกรรมแล้ว ปี 2563 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต้องการเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้กันมากขึ้น ขณะที่ในประเทศไทย ขนาดของตลาดรวมของคลังสินค้ามาตรฐานสมัยใหม่ อยู่ที่ประมาณ 4.5 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ไม่นับรวมอาคารโกดังรูปแบบเก่า ที่ก่อสร้างดั้งเดิมไม่ได้มาตรฐาน โดยตลาดคลังสินค้านี้มีการเติบโตขึ้นประมาณ 4-5% ต่อปี หรือประมาณ 200,000 – 300,000 ตารางเมตต่อปี แต่หากเป็นตลาดของอาคารโรงงานสำเร็จรูป จะไม่ค่อยมี Supply ใหม่ ตัวเลขของตลาดอยู่ประมาณ 2.5 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ตลาดดังกล่าวจะไม่รวมการพัฒนาที่ดินอุตสาหกรรมเพื่อขาย หรือพวกนิคมอุตสาหกรรม เพราะตลาดที่เรากำลังพูดถึงคือตลาดอาคารอุตสาหกรรมเพื่อการเช่าเป็นหลักเท่านั้น โดยปัจจุบันสัดส่วน Market Share ของ FPIT ในตลาด Industrial Property นี้อยู่ที่ประมาณ 40% ของตลาดคลังสินค้ามาตรฐาน และประมาณ 60% ของตลาดโรงงานสำเร็จรูปเพื่อเช่า

โดยการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ Online eCommerce เข้ามามีบทบาทในการประกอบธุรกิจมากขึ้น และกำลังจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากอีกครั้งในช่วงนี้ ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมาก ทางด้าน Supply และ Demand จาก Trade War และโควิด-19 พร้อมๆ กัน  จึงมองว่าแนวโน้มของธุรกิจนี้ จึงสรุปได้ว่ามาจาก 3 เรื่องดังนี้

1.แนวโน้มจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหาร Supply Chain ของผู้ประกอบการ จาก 2 ปัจจัยหลักอันได้แก่

       -จากภูมิศาสตร์การเมืองโลก หรือ Geopolitical Situation โดยเฉพาะระหว่าง สหรัฐอเมริกา และจีน นั่นคือ Trade War และ Tech War ที่เกิดขึ้นและยังมีแนวโน้มคงอยู่ต่อไป ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องคิดวางระบบ Supply Chain ใหม่ เพื่อมิให้ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ของสองขั้วมหาอำนาจ ซึ่งในประเด็นนี้ช่วยเป็นประโยชน์ต่อไทย โดยไทยสามารถเป็นประเทศที่รองรับการย้ายฐานการผลิตและส่งออกจากจีนมาที่ประเทศไทยได้

 – ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องหันกลับมาบริหารความเสี่ยงของระบบ Supply Chain ทั้งการผลิตและคลังสินค้า ให้สามารถมีข้อมูลในการประเมินความเสี่ยงของ Vendor หรือ Supplier ของตน และมีระบบที่พร้อมรองรับหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก ทั้ง Trade war และโควิด-19 กำลังผลักดันให้ระบบการผลิต และโลจิสติกส์ของโลกเปลี่ยนไป  FPIT ได้เตรียมความพร้อม โดยสามารถรองรับความต้องการของการเคลื่อนย้ายทุนนี้ได้อย่างรวดเร็วด้วยอาคารสำเร็จรูปมาตรฐานที่บริษัทฯมีอยู่

2.การเปลี่ยนแปลงธุรกิจและการค้าสู่ eCommerce มากขึ้น เร็วขึ้น และเต็มตัวมากขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรหลังสถานการณ์ โควิด-19ซึ่งจะเห็น Online eCommerce กลายเป็น Norm จะเห็นอัตราการเติบโตของ eCommerce 20-30% ต่อปี คลังสินค้าจะกลายเป็นศูนย์กลาง ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค แทนร้านค้าปลีก  โรงงานต้องหันมาคิดเรื่อง Direct-to-Consumer Model ที่ต้องสามารถผลิตและบริหารการขายไปให้ถึงผู้บริโภคทีเดียวให้ได้

3.ความพยายามผลักดันให้เกิด Industrial Transformation ไปสู่ Industria l 4.0 ในแต่ละประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้พื้นที่อาคารอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การใช้เทคโนโลยี ระบบออโตเมชั่น โรบอท Internet of Things (IoT) และ Big Data กำลังเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางการดำเนินงานในช่วง 5 ปี (2564-2568) รองรับการขยายพื้นที่เช่าคลังสินค้าให้เช่าทั้งในและต่างประเทศ ไว้ที่ประมาณ 150,000-200,000 ตารางเมตร/ปี  คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 2,500-3,500 ล้านบาท/ปี  อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 3 ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลติดขัดในเรื่องของการเดินทางเข้ามาในประเทศของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยังคงมีความสนใจเข้ามาดูพื้นที่ในการเช่าพื้นที่คลังสินค้าเพื่อประกอบธุรกิจ ทำให้บริษัทยังไม่สามารถปิดดีลสัญญาการเช่าพื้นที่ใหม่ของลูกค้าได้ จึงทำให้อัตราการเช่ายังไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 หากลูกค้ากลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ จะทำให้บริษัทสามารถเดินหน้าปิดดีลการเช่าพื้นที่คลังสินค้าได้ และช่วยหนุนอัตราการเช่าและผลการดำเนินงานให้สูงขึ้นได้อีก โดยที่ในช่วง 5 ปี บริษัทตั้งเป้ามีอัตราการเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 85-90% ต่อปี

“กลยุทธ์และเป้าหมายการดำเนินงานในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเน้นการสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตในทุกมิติ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะนำประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจกว่า 30 ปี มาพัฒนาเป็นโซลูชั่นครบวงจรที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อ ผ่านการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ใหม่ “น่านน้ำสีม่วง” หรือ “Purple Ocean Strategy” ที่เสริมสร้างความพร้อมและความแตกต่างให้แก่บริษัทฯในการขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเผชิญกับการแข่งขันสูงในน่านน้ำสีแดง หรือการคิดนอกกรอบ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่กำลังเกิดขึ้นในน่านน้ำสีน้ำเงิน หรือหากต้องเผชิญกับทั้งสองน่านน้ำในคราวเดียวกันใน น่านน้ำสีม่วง” นายโสภณ กล่าว

ที่ผ่านมาบริษัทฯได้มุ่งพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้สร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจผ่านกระบวนการ Business Transformation เพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีทั้งความพร้อมและความสามารถที่จะแข่งขันในทุกโอกาส และส่งผลให้ FPIT ยังคงรักษาความเป็นผู้นำของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้นรวมกว่า 3 ล้านตารางเมตร ภายใต้ 15 จังหวัดสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นอาคารปล่อยเช่า ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาอาคารตามความต้องการของผู้เช่า ทั้งยังมีอัตราการเช่าที่สูงถึงกว่าร้อยละ 82 ในปี 2564

ปัจจุบันสต๊อกที่ดินของบริษัทฯยังมีค่อนข้างมาก จาก 15 จังหวัด หากจะไปลงทุนในจังหวัดใหม่ๆทำเลในการลงทุนก็สำคัญมาก  ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากภาครัฐมีการเปิดพื้นที่ใหม่ๆที่รองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม บริษัทฯก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนเช่นกัน

“โดยในสมรภูมิ น่านน้ำสีแดง หรือ Red Ocean เราได้เดินกลยุทธ์เพื่อสามารถปรับอัตราการเช่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอัตราการเช่าที่ค่อนข้างต่ำที่ 67% ในปี 2560 ขึ้นมาอยู่ที่ 82% ในปี 2564 นี้ขณะเดียวกันเราก็เพิ่มขีดความสามารถใหม่ให้กับองค์กร โดยการสร้างทีมงาน BTS หรือกลุ่มธุรกิจ Built-to-Suit และทีมการลงทุน เพื่อมองหา น่านน้ำสีน้ำเงิน หรือ Blue Ocean ให้องค์กรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปีนี้ เรามีรายได้ค่าเช่าอาคารรวม ภายใต้การบริหารจัดการ เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5,000ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้ค่าเช่าและรายได้อื่นๆ ของ FPIT ประมาณการสิ้นปีงบประมาณนี้กว่า 2,000 ล้านบาท และเรายังมีรายได้จากการขายทรัพย์สินเข้ากองทุน FTREIT ในปีนี้เราตั้งเป้าไว้ที่ประมาณเกือบ 3,600 ล้านบาท ซึ่งเรามั่นใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าภายในสิ้นปีเช่นกัน” นายโสภณ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทฯยังเดินหน้าเตรียมความพร้อมในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดหาและพัฒนาที่ดินเพิ่มเติม โดยมีที่ดินบริเวณบางนาตราด กม.32 ที่ ประมูลมาได้เมื่อสองปีที่แล้วกว่า 4,700 ไร่ ขณะนี้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่หลายราย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวก็จะเป็นอีกหนึ่งแห่งที่จะช่วยเพิ่มความพร้อมในการแข่งขันในพื้นที่ Prime Logistics ของไทยให้แก่บริษัทได้เป็นอย่างดี และเตรียมเปิดพื้นที่เพื่อการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ทั้งทางด้านคลังสินค้าและโรงงานอีกหลายพื้นที่  จึงยังมีความเชื่อมั่นในผลประกอบการของบริษัท ว่าในปีนี้เราจะสามารถมีตัวเลขได้ตามเป้าที่กำหนด

“เรายังคงสามารถตรึงอัตราการเช่าที่เกิน 80% และยังสามารถปิดการขาย-ลงนามสัญญาเช่าคลังสินค้าที่เป็น BTS ขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา ได้ปิด Deal BTS ขนาดใหญ่รวมกันกว่า 100,000 ตารางเมตร อาทิ ศูนย์การกระจายสินค้าไทย Thaibev Logistics ที่วังน้อย, คลังสินค้า Central Watson ที่ขอนแก่น, ศูนย์ Fulfillment Center ของ Flash Express ที่บางพลี, อาคาร BTS โรงงาน Smart Factory ที่ระยอง ให้กับลูกค้าเยอรมัน และอาคารคลังสินค้าขนาดใหญ่รูปแบบใหม่ รองรับ GMP และมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในพื้นที่บางพลีกว่า 44,000 ตารางเมตร โดยคาดว่าในระยะเวลาอีก 4 เดือนที่เหลือน่าจะสามารถปิดเพิ่มเติมได้อีก ทำให้สามารถปิดได้ตามเป้ารวม 130,000 ตารางเมตรในปีนี้  ซึ่งจะทำให้มีเงินลงทุนในโครงการเหล่านี้ รวมกว่า 3,000 ล้านบาทเริ่มตั้งแต่ปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า และมีเป้าหมายเพิ่มพอร์ต 4 ล้านตารางเมตร ภายใน 5 ปี ” นายโสภณ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้เปิดพื้นที่โลจิสติกส์ปาร์คใหม่อีกสองแห่ง คือ ที่บางพลี ขนาด 80 ไร่ในชื่อ Frasers Property Logistics Center Bangplee 7 และที่บางปะกง ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อีก 200 ไร่ โดยทั้ง 2 โครงการได้เริ่มการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าอาคารระยะแรกของทั้งสอง Logistics Parks จะแล้วเสร็จในปลายปี 2564 นี้

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ FPIT ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “เราพร้อม” (We are ready) และ “เราต่าง” (We are different) เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์น่านน้ำสีม่วง โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านต่อไปนี้

1.การสร้างความพร้อม:

เพิ่มทำเลศักยภาพเชิงอุตสาหกรรมเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน   

-สานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความสามารถเฉพาะด้าน เพื่อต่อยอดด้านการให้บริการลูกค้าในรอบด้าน อาทิ การเสริมบริการระบบออโตเมชั่น การบริหารทรัพย์สิน และการพัฒนาธุรกิจใหม่

-การปรับปรุงอาคารโรงงานและคลังสินค้าปัจจุบันให้มีความทันสมัยและพร้อมตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้าในปัจจุบัน ภายใต้โครงการ Asset Enhancement Initiative (AEI)

-ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความพร้อมในการให้บริการลูกค้าในทุกตลาด โดยปัจจุบันได้ลงทุนแล้วที่ประเทศอินโดนีเซีย ใกล้กรุงจาการ์ตา โดยเข้าไปลงทุนในสัดส่วน 25%  และเมืองบินห์เยือง ประเทศเวียดนาม  เป็นการลงทุน 100%โดยใช้ประสบการณ์และความสามารถของบริษัทฯ ไปสร้างระบบนิเวศของธุรกิจในต่างประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น คาดว่าปลายปี 2565 จะมีเม็ดเงินจากการลงทุนในเวียดนามเข้ามาประมาณ 5% และพยายามจะหาโอกาสในการลงทุนที่เวียดนามอย่างต่อเนื่อง

-พัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับการดำเนินงานที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้สมัยใหม่ อาทิ Design Thinking, Customer Centric และ Human Centric เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างครอบคลุม และมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ Big Data และ เทคนิคการทำ Asset Management

-สร้าง PropTech Platform  โดยนำการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาคาร เพื่อเพิ่มความสามารถในการให้บริการด้วยแนวคิดอาคารอัจฉริยะ (Smart Building)

“ภาคอสังหาฯด้วยกัน ในสายงานอุตสาหกรรมถือว่าสวนกระแสโควิด-19  มองว่าโควิดรอบแรกมีการช็อกทั้งฝั่งผลิตและดีมานด์ แต่พอตั้งตัวได้ก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าโควิด-19ระลอก3 ดีมานด์ภายในประเทศจะชะลอตัว แต่ดีมานด์จากต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว  ตอนนี้กำลังดูลูกค้าประเทศอื่นในเอเชียด้วยนอกเหนือจากจีน ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่ยุโรปและอเมริกาก็มองอยู่เช่นกัน ซึ่งประเทศไทยกับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านคลังสินค้านี้ ถือว่าเป็นแม่แบบในอาเซียนและมีหลายๆประเทศมองไทยเป็นต้นแบบ เพื่อเอาไปใช้ในต่างประเทศด้วย และบริษัทฯก็สนใจลงทุนในประเทศต่างๆในเอเชีย แต่ขอศึกษาข้อมูลต้นแบบจากเวียดนามก่อน” นายโสภณ กล่าว

2.การสร้างความแตกต่าง:

-เดินหน้าพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทางด้านอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย อาทิ โครงการ In-Property Logistics และโครงการ In-City Logistics เพื่อย่อขนาดพื้นที่โลจิสติกส์เข้าสู่ในเมือง และในขณะเดียวกัน ก็เตรียมการออกแบบเพื่อขยายขนาดการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ อาทิ โครงการเมืองอุตสาหกรรม (Industrial Township) ที่เป็นการรวมอสังหาริมทรัพย์หลายประเภทเข้าไว้ในพื้นที่พัฒนาเดียวกัน

-มุ่งพัฒนาการดำเนินงานตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, Governance) โดยได้จัดทำนโยบาย Green Development Policy เพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยรอบ และมีความยั่งยืนในด้านการบริหารจัดการ

-การขยายการลงทุนในระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อรองรับดีมานด์ของลูกค้าองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

-พัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการให้บริการพื้นที่อาคารอุตสาหกรรม อาทิ รูปแบบ Co-Warehousing หรือ Flexible Space เพื่อรองรับความต้องการพื้นที่จัดเก็บที่มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนการพัฒนาการให้บริการที่รองรับระบบ Smart Storage ด้วยการใช้ Internet of Things (IoT)มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

ด้านรายได้ในกลุ่ม FPIT ปัจจุบันหากเทียบกับรายได้รวมของ FPT ถือว่ายังมีสัดส่วนที่ยังไม่สูงมาก ซึ่งการลงทุนพัฒนาพื้นที่เช่าคลังสินค้าเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้รายได้จาก FPIT เพิ่มสูงขึ้นและใกล้เคียงกับรายได้จากกลุ่มธุรกิจพัฒนาและขายที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นธุรกิจที่เป็นรายได้หลักและมีสัดส่วนรายได้มากที่สุดของ FPT โดยที่เป้าหมายผลการดำเนินงานงวดปี 2563/2564 (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) ซึ่งมั่นใจว่ารายได้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 4,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรายได้รวมของ FPT ที่ 20,000 ล้านบาท

“แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าและสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้เราเติบโตอย่างน่าพึงพอใจ แต่ด้วยการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ประกอบกับการประยุกต์ใช้กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ใหม่ของ FPIT นี้ เรามั่นใจว่าบริษัทฯจะสามารถสร้างการเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง ซึ่งจะทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย)ฯ มีรายได้เติบโตร้อยละ 10-15 ต่อปี และสามารถขยายพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านตารางเมตร ภายในปี 2568 โดย FPIT จะยังเดินหน้าพัฒนาโครงการที่รองรับทุกความต้องการของลูกค้า ตามแนวคิด การสร้างสรรค์พื้นที่แห่งแรงบันดาลใจที่เอื้อให้ธุรกิจของลูกค้าดำเนินไปได้อย่างไร้รอยต่อ หรือ Inspiring Seamless Business Solution Experience ในทุกสภาวการณ์” นายโสภณ กล่าวในที่สุด

 

 

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*