ภายหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสั่งปิดแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา ,นราธิวาส, ยะลาและปัตตานี ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด- ขณะเดียวกันก็จะมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด เป็นระยะเวลา 1 เดือน  แต่ยังไม่ใช่การล็อกดาวน์  ไม่มีการเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน  โดยเริ่มมีผลในวันจันทร์ ที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป หลังจากเสร็จสิ้นการประกาศได้เกิดความระส่ำในแคมป์งานก่อสร้างและภาคธุรกิจอสังหาฯทันที แรงงานบางส่วนรีบขนของหนีออกจากไซต์งาน ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ และผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก ผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็ก ต่างมึนงง ตั้งหลักกันแทบไม่ทัน และได้มีการส่งเสียงสะท้อนผ่านสื่อทุกช่องทางมาตลอดทุกวันนับจากที่นายกฯประกาศ โดยทุกฝ่ายน้อมรับที่จะปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐ แต่ควรที่จะมีการรับฟังผู้ประกอบการในธุรกิจและเห็นภาพในไซต์งานอย่างแท้จริง ด้วยการผ่อนปรนในบางเรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และเกิดโศกนาฏกรรมจากเครื่องมือการก่อสร้างที่ทิ้งค้างไว้ ผ่านเสียงสะท้อนของ 3 นายกสมาคมอสังหาฯ ประกอบด้วย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์
เหน็บรัฐเร่งหาวัคซีนฉีด”กลุ่มที่ชี้หน้า”มีความเสี่ยงให้เร็วที่สุด
โดยเริ่มจาก ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า  ยังไม่ทราบว่าจะปรับตัวรับกับวิกฤติครั้งนี้อย่างไร (ปิดแคมป์งานก่อสร้าง 1 เดือน) แต่จะเกิดผลกระทบกับโครงการอาคารสูงที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จอย่างใหญ่หลวงมาก โดยในแต่ละปีธุรกิจอสังหาฯจะมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 900,000 ล้านบาท เดือนละประมาณ 70,000ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หากรวมเข้าไปด้วยก็ยังไม่สามารถประมาณมูลค่าความเสียหายได้

 

สำหรับการไขปัญหาในครั้งนี้รัฐบาลมุ่งชี้มาที่กลุ่มแรงงานก่อสร้างโดยเฉพาะ หากคิดในเชิงตรรกะว่ากลุ่มแรงงานก่อสร้างเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดโควิด-19  ก็สมควรที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ

1.เข้ามาตรวจคัดกรองในไซต์งาน เพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อออกไป เพื่อที่ผู้ไม่ติดเชื้อจะได้ปลอดภัย

2.จัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับกลุ่มแรงงานก่อสร้างทันที เพราะรัฐมีอำนาจในการจัดสรรวัคซีนอยู่แล้ว สามารถทำคู่ขนานไปกับการตรวจคัดกรองเชื้อโรคได้เลย หากทำได้ก็ยุติธรรม มาดับไฟที่ต้นเหตุ เพื่อที่จะไม่เป็นปัญหายืดระยะเวลาการปิดแคมป์งานก่อสร้างต่อไปอีก 15 วัน หรือ 30 วัน

“ในระยะสั้น คงไม่สามารถแก้ไขให้งานก่อสร้างกลับมาได้ สิ่งที่จะต้องทำคืออย่าให้กระแสเงินสดขาด หากไม่มีเงินชำระดอกเบี้ย ปัญหาก็จะตามมาอย่างแน่นอน จะทำให้เกิดความไม่สบายใจกับสถาบันการเงิน และหากระยะเวลาการปิดแคมป์งานก่อสร้างต้องยืดเยื้อออกไปก็จะกระทบกลุ่มอื่นอีกอย่างแน่นอน” ดร.อาภา กล่าว

ดร.อาภา กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ภาครัฐช่วยผ่อนปรนในกรณีการซ่อมเก็บงานบ้าน-คอนโดฯที่สร้างแล้วเสร็จ กรณีที่ลูกค้าเข้ามาตรวจงานและขอร้องให้เก็บงานให้เรียบร้อย ซึ่งจะใช้แรงงานเพียง 2-3 คนเท่านั้น และใช้ระยะเวลาในการแก้ไขงานเพียง 1-3 วันเท่านั้น เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมทั้งหมดเซหรือล้มลง

อย่างไรก็ตามในส่วนของอาคารชุดนั้นสัดส่วน 98-99% จะว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง มาสร้างโครงการ และซับงานให้ผู้รับเหมารายย่อยในบางส่วน ซึ่งอำนาจการควบคุมในไซต์งานก่อสร้างจึงขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก ผู้ประกอบการเจ้าของโครงการจะไม่มีสิทธิ์และไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการแคมป์งานก่อสร้าง จึงยากต่อการที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในแคมป์งานได้เอง

ทั้งนี้การก่อสร้างอาคารสูงล้วนเป็นธุรกิจที่ลงทุนอย่างมหาศาล กว่าจะผ่านการจัดทำรายการรายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA)ต้องใช้ระยะเวลานาย และต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างอีก 20-30 เดือน  หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง คงต้องล้มเลิกกิจการก่อนอย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นวิกฤติของผู้ประกอบการกลุ่มนี้มาก

“เชื่อว่ารัฐคงปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ อย่างบริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีดำเนินการก่อสร้างอยู่ 4 ไซต์งาน แบ่งเป็นอาคารสูง 1 ไซต์ และแนวราบ 3 ไซต์ ที่ผ่านมาไม่พบการติดเชื้อโควิด-19แต่อย่างใด  ดังนั้นมาตรการที่ออกมาอยากให้แยกปลา แยกน้ำ เพราะมีทั้งปลาที่เน่าและไม่เน่า เราจ่ายภาษีในรูปแบบต่างๆ นับแสนล้านบาท จากมูลค่าอุตสาหกรรม -900,000 ล้านบาทในแต่ละปี  ดังนั้นต้องจัดสรรวัคซีนออกมาให้กลุ่มที่ภาครัฐชี้หน้าว่ามีความเสี่ยงอย่างเร็วที่สุด”

 

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์

ผู้ออกมาตรการไม่รับรู้ปัญหาเพราะไม่เคยเข้ามาสัมผัสไซต์งาน

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ในเรื่องมาตรฐานแคมป์งานก่อสร้างในประเทศไทยนั้นกรมอนามัยก็ต้องยอมรับสภาพ เพราะคงไม่เป็นไปตามมาตรฐานของต่างประเทศ หากภาคเอกชนจะออกมาโวยวายภาครัฐอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องปรับมาตรฐานให้ดีพอก่อน เพื่อให้ภาครัฐได้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างจริงจัง หากไม่แก้ไขก็ยังจะมีการติดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องสู้กันไปอีกนาน เพราะไม่ทราบว่าจะมีสายพันธุ์ไหนมาแพร่ระบาดอีก

“รัฐควรมีมาตรการในทิศทางเดียวกันก่อน คือควรรวบรวมข้อมูลกันแล้วออกมาเป็นมาตรการหลัก ไม่ใช่แต่ละหน่วยงานแห่กันออกมาตรการของตนเองออกมามากมายไปหมด”

นายพรนริศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นสำคัญที่สุดในปัจจุบันนี้คือคนงานประมาณ 90% ไม่มีความรอบรู้ด้านอนามัย ซึ่งควรเติมความรู้ด้านสาธารณสุขให้คนงานได้รับทราบ ซึ่งต้องมีให้ครบ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา อังกฤษ และเมียนมา และต้องมีการคัดกรองผู้ป่วยหนักออกไป อีกทั้งควรมีการดีไซน์ห้องน้ำใหม่ ซึ่งกำลังให้ทางจุฬาฯออกแบบอยู่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าเกิน 70% คนงานมีการติดเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็ว หากไม่มีความชัดเจนในด้านสุขอนามัย ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค.คงไม่ยอมให้เปิดแคมป์งานก่อสร้างอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันลูกค้าหลายราย ก็ถือโอกาสจากวิกฤตินี้ไม่โอนเงิน  และผู้ที่น่าสงสารที่สุดคือ ผู้ที่กำลังโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเดือนกรกฎาคม 2564  แต่ทุกอย่างต้องจบลง เพราะมีการสั่งปิดแคมป์งานก่อสร้าง ไม่สามารถสร้างเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีกระแสเงินสดหมุนเวียน “ซึ่งก็คงต้องกอดคอกันตายทั้งอุตสาหกรรม” ความเสียหายนับไม่ถ้วน โดยหน่วยงานที่ออกมาตรการไม่เคยลงมาดูที่ไซต์งาน จึงไม่รับรู้ถึงปัญหาที่จะตามมาอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันวัสดุก่อสร้างก็ไม่ปรับลดราคา แต่การก่อสร้างหยุดชะงักไป ส่งผลให้ Margin  หายไปเกือบ 10%

เชื่อว่าด้วยสายสัมพันธ์ของทาง 3 สมาคมอสังหาฯกับทางภาครัฐ ก็ต้องมีการศึกษาข้อมูล และดำเนินการตามมาตรการที่ภาครัฐ แต่รัฐก็ต้องพิจารณาเยียวยาผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้ 3 สมาคมฯ จะทำการยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ซึ่งไม่ใช่เป็นการเรียกร้อง แต่เป็นการเข้าไปแบบมีหลักการ

หากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นแบบนี้ และมีผลให้รัฐบาลต้องประกาศ ปิดๆ เปิดๆ แคมป์ก่อสร้างไปถึงปลายปี 2564 นี้ คาดว่าจะนำไปสู่การ “ตายหมู่” หรือหนีไม่พ้นการเกิด “ภาวะธุรกิจขาลงอย่างรุนแรง” เนื่องจากทั่วโลกกำลังจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งทุกครั้งที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ขั้ว ก็ต้องมีการอัดฉีดมาตรการการเงินเพื่อมาสกัดเงินเฟ้อ เช่น ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในส่วนของไทยและประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ก็จะได้รับแรงเหวี่ยงจากผลกระทบดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจรุนแรง หรือจีดีพี ติดลบทั่วทั้งอาเซียน

“จากการสั่งปิดแคมป์งานก่อสร้าง ทำให้มีการหยุดงานค้างไว้ จะมีความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน และเกิดการดีเลย์ ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างถูกปรับได้ ซึ่งรัฐต้องมีมาตรการออกมาให้เห็นแสงสว่างบ้าง ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาวก็สามารถหากระแสเงินสดมาหมุนเวียนได้หลายแนวทาง เช่น การออกหุ้นกู้ หรือเล่นเหรียญคริปโทเคอเรนซี  ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กจะแย่ แต่หากไม่ลงทุนเกินตัวก็สามารถไปต่อได้ ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าปลายปีนี้บ้านแนวราบก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีการโอนกันไหม หากสถานการณ์ยังปิดๆเปิดๆถึงปลายปี ‘คงต้องตายหมู่’ อย่างแน่นอน” นายพรนริศ กล่าวในที่สุด

นายวสันต์ เคียงศิริ

หยุดงานก่อสร้าง 1 เดือน ความเสียหายมูลค่า 12,000 ล้านบาท

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผู้ประกอบการทุกรายเห็นถึงความสำคัญของการแพร่ระบาดโควิด-19  และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ประกอบการยังมีค่าใช้จ่ายอีกมาก ส่วนใหญ่แคมป์ที่พักคนงานกับไซต์งานจะอยู่คนละที่ ก็จะต้องมีการเดินทาง  ซึ่งสามารถควบคุมการเดินทาง หากแคมป์ไหนไม่มีการติดเชื้อก็ควรที่จะมีการผ่อนปรน  หากผ่อนปรนที่ต้นเหตุได้ โดยไม่ได้มีการเพิ่มการแพร่ระบาดมากนัก ภาครัฐก็จะไม่ต้องมีภาระค่าเยียวยามาก

แต่หากหยุดงานก่อสร้าง 1 เดือน ผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม ทำให้มีความเสียหายต่อเดือนประมาณ 12,000 ล้านบาท และหากมีการหยุดการก่อสร้างต่อเนื่องอีก ก็ต้องคูณสองหรือคูณสามไปอีกขึ้นอยู่สภาวการณ์  หากมาตรการปูพรมไปเลย ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ในแนวราบก็ไม่สามารถก่อสร้างต่อไปได้ ส่วนที่สร้างแล้วเสร็จและมีการตรวจรับ หากต้องมีการแก้ไขก็ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นหากบางไซต์งานมีการควบคุมความเสี่ยงได้ และปลอดภัย ภาครัฐก็ควรผ่อนปรนให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ความเสียหายก็จะลดลง รัฐก็ลดภาระในการเยียวยา แต่ไซต์ไหนมีความเสี่ยงก็ปิดไป ซึ่งเคยใช้ได้ผลแล้วที่จังหวัดสมุทรสาคร

“จากมาตรการสั่งปิดแคมป์งานก่อสร้างที่เหมือนหน่วยงานภาครัฐไม่ค่อยมีการประสานงานกัน เพราะบางองค์กรประกาศสั่งปิดไซต์และแคมป์งานก่อสร้างทั้งหมด ขณะที่บางหน่วยงานมีการผ่อนปรนในบางเรื่องได้ สร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการและผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง จึงอยากให้ศบค.มีหนังสือประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเลย เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง”

ทั้งนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าตลาดคิดเป็นสัดส่วน 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากกระตุ้นให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบจำนวนมาก เกิดการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอื่น อาทิ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์/ การตกแต่ง และสถาบันการเงิน

“ผู้รับเหมาแนวราบ บางทีก็จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อย โดยไม่มีแคมป์งานก่อสร้าง แต่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในมุมมองของผมเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปควบคุม ซึ่งไม่ติดขัดแต่อย่างใด แต่หากแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็แก้ไม่ได้หมด รัฐคงไม่สามารถเยี่ยวยาได้ทุกเรื่อง ดังนั้นควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า” นายวสันต์ กล่าวในที่สุด

 

คาดว่าปัญหาการปิดไซต์งานก่อสร้างและแคมป์คนงานน่าจะยังเป็นมหากาพย์ต่อไปอีก  ซึ่งต้องคอยดูว่าข้อร้องเรียนที่แต่ละสมาคมยื่นขอไปจะไปรับการผ่อนปรนเพื่อลดความสูญเสียหรือไม่ และสถานการณ์จะจบที่ 1 เดือนหรือมากกว่านั้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*