การประกาศมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของรัฐบาลให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างและเจ้าของโครงการหยุดก่อสร้างเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 28 กรกฎาคม 2564 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม คือกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 4 จังหวัด  คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีสัดส่วน 51% ของมูลค่างานก่อสร้างทั้งประเทศ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นหลัก คิดเป็นมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 7 แสนล้านบาท

ล่าสุดแม้ว่าภาครัฐจะมีการประกาศคลายล็อคดาวน์กิจกรรมการก่อสร้างบางประเภทไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการก่อสร้างที่ไม่สามารถหยุดก่อสร้างได้ทันที เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก เพราะหากหยุดก่อสร้างทันทีอาจเกิดความเสียหายเชิงโครงสร้าง หรือโครงการก่อสร้างชั่วคราวที่มีความจำเป็น เช่น โรงพยาบาลสนาม เป็นต้น

แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19ที่ยังไม่คลี่คลายประกอบกับมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ให้มีการหยุดทำการก่อสร้างชั่วคราวในบางประเภท อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างให้มีความล่าช้าออกไป เนื่องจากขั้นตอนการก่อสร้างต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระยะเวลาที่หยุดงานไป 1 เดือนนั้น ในทางปฏิบัติเมื่อกลับมาทำงานก่อสร้างอีกครั้งอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 เดือน

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นกับงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด เช่น งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ รวมถึงงานก่อสร้างถนนและอาคารภาครัฐอื่นๆ

ขณะที่งานก่อสร้างของภาคเอกชน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนหดตัวหรือมีการก่อสร้างที่ลดลงอยู่แล้วในช่วงก่อนหน้านี้ มาตรการการหยุดก่อสร้างดังกล่าวอาจจะกระทบกับภาคเอกชนในสัดส่วนที่น้อยกว่างานก่อสร้างภาครัฐ และอาจจะเป็นปัญหาในเรื่องของระยะเวลาและการส่งมอบงานที่ช้าลง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตการกึ่งล็อกดาวน์ให้หยุดก่อสร้างไม่ได้กระทบกับอุตสาหกรรมปลายทางของงานก่อสร้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้วย ทั้งธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจขนส่งสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสั่งซื้อที่ล่าช้า และในบางรายที่มีการซื้อขายกันด้วยเครดิตอาจทำให้ต้องยืดเวลาออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบในแง่ของกระแสเงินสด

ส่วนนการก่อสร้างที่ล่าช้ายังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจขนส่งสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจการเช่าอุปกรณ์ก่อสร้างที่มีราคาสูง เช่น การเช่าเครน และรถแบคโฮ ที่ผู้ประกอบการรับเหมารายกลางถึงเล็กนิยมเช่ามากกว่าซื้อ

คำสั่งหยุดก่อสร้าง1เดือนกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง 3.6 หมื่นล้าน
ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นว่าน่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 36,200 ล้านบาท โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดภาคใต้อาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการลงทุนก่อสร้างในจังหวัดภาคใต้มีมูลค่าเพียง 2% ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งประเทศ

ทั้งนี้แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างแรงงานได้บางส่วน รวมถึงผ่อนคลายงานก่อสร้างบางประเภท แต่ด้วยการระบาดของโควิดในปัจจุบันที่ยังไม่คลี่คลาย ยอดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังสูง ทำให้คาดว่ามูลค่าการลงทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างโดยรวมทั้งปี 2564 อาจอาจหดตัวถึง -3.8%1 เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 1.2% หรือมีมูลค่าประมาณ  1.27 ล้านล้านบาท

ล่าสุดภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้รับเหมาและแรงงานในเบื้องต้น โดยแบ่งเป็นทั้งในระบบประกันสังคมสูงสุด 9,500 บาท และนอกระบบประกันสังคมสูงสุดที่ 2,000 บาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เนื่องจากแรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นแรงงานทั่วไปที่ได้รับค่าจ้างรายวันและอยู่นอกประกันสังคม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% หรือประมาณ 4 แสนคน โดยเฉลี่ยมีค่าจ้างแรงงานก่อสร้างวันละประมาณ 350-400 บาท ทำมีส่วนต่างเงินได้ต่อเดือนที่หายไปพอสมควรในกรณีที่เป็นแรงงานนอกประกันสังคม

ส่วนของแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ โฟร์แมน วิศวกร อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าเพราะได้รับเงินช่วยเหลือประกันสังคมด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเป็นเงิน 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คนทั้งในและนอกระบบ ทำให้แบ่งเบาภาระนายจ้างได้พอสมควร แต่ก็ยังมีส่วนต่างของรายได้ที่หายไปในกลุ่มแรงงานนอกระบบ ทำให้นายจ้างบางรายอาจจะต้องแบกรับส่วนต่างของรายรับบางส่วน ส่งผลให้ต้นทุนก่อสร้างต่อหนึ่งโครงการเพิ่มขึ้น

เสนอภาครัฐออกมาตราเยียวยาผู้รับเหมา แรงงาน ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่า ภาครัฐควรออกมาตรการอื่นๆ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือหรือเยียวยาเพิ่มเติม เช่น การขยายสัญญาการก่อสร้างเพื่อไม่ให้ถูกปรับเงินจากการส่งมอบงานล่าช้า เพราะการหยุดงานในลักษณะนี้เป็นการหยุดงานโดยเหตุสุดวิสัย ทำให้เจ้าของงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนอาจจะยืดหยุ่นเวลาการส่งมอบงานโดยไม่ถูกปรับเงิน

นอกจากนี้ อาจจะมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบางส่วนของวัสดุก่อสร้างที่เสื่อมคุณภาพ เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ถุง และไม้ ที่มีโอกาสเสื่อมคุณภาพได้หากมีการจัดเก็บไม่ดี ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาอาจจะต้องจัดซื้อวัสดุก่อสร้างใหม่มาทดแทน รวมถึงอาจมีการผ่อนผันต้นทุนทางการเงินและสภาพคล่องในบางส่วนจากสถาบันทางการเงินในกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตดี โดยอาจจะมีเงินกู้ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อชดเชยกระแสเงินสดที่หายไปในผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อเป็นสภาพคล่องในการจ่ายค่าแรงงาน วัสดุก่อสร้างและเครื่องมือ เป็นต้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*