ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนในช่วงเดือนเดียวกันที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางด้านฐานะการเงินที่สะสมมาจากการแพร่ระบาดในปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงที่ 90.5% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2564

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวถึงผลกระทบการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการปิดแคมป์คนงาน การล็อกดาวน์พร้อมสั่งปิดธุรกิจเสี่ยง จำกัดการเดินทางใน 10 จังหวัด เป็นระยะเวลา 14 วัน ก่อนจะมีการขยายมาตรการออกไปครอบคลุมถึง 13 จังหวัด ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 34.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ แต่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนอยู่ที่ 35.1

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 36.6 จาก 38.9 ในเดือนมิถุนายนสะท้อนว่าครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพต่อเนื่อง โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับระดับราคาสินค้า โดยในเดือนกรกฎาคม ดัชนีปรับลดลงอยู่ที่ 31.5 จาก 37.0 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับระดับอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 0.45%

ทั้งนี้หากไม่นับรวมผลจากมาตรการของภาครัฐในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำค่าไฟ ระดับอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.8% โดยปัจจัยหนุนเงินเฟ้อนอกจากราคาน้ำมันแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์

ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของฐานะการเงินที่สะสมมาจากการแพร่ระบาดในปีก่อนและปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 90.5% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2564 นอกจากนี้ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และจ้างงานเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ผลการสำรวจด้านผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพบว่า 64.2 % ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ประมาณ 64.2% มีรายได้จากการจ้างงานลดลง ขณะที่บางส่วน 14.3% ธุรกิจปิดกิจการและถูกเลิกจ้าง ล่าสุดในไตรมาส 2/2564 จำนวนผู้ว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.3 แสนคน โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคท่องเที่ยว แม้ในเดือนกรกฎาคมจะมีการนำร่องเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ต้องกักตัวตามเงื่อนไข แต่สถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ต 14,055 คนในช่วงเดือนกรกฎาคม และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 5,400บาท (ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบิน) ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ภาครัฐเคยประเมินไว้ว่าไตรมาส 3 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน

ขณะที่มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐ 2 โครงการคือ โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจการเข้าร่วมมาตรการพบว่า มีครัวเรือนถึง 30.6% ที่ไม่ได้เข้าร่วมทั้งสองโครงการ เนื่องจากมองว่าขั้นตอนการสมัครมีความยุ่งยาก อีกทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออมมีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9%เท่านั้น

สะท้อนให้เห็นว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นจะยิ่งกดดันต่อตลาดแรงงานต่อเนื่องไปจนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

ดังนั้นภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุก เพราะทุกเวลาที่ผ่านไปคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนและประเทศ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*