หลังจากกลุ่มลูกบ้านแอซตัน อโศกได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทอนันดาฯและหน่วยงานราชการดำเนินการแก้ไขเยียวยาในสิ่งที่ลูกบ้านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจำนวน 3 ข้อไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานรัฐและกลุ่มอนันดาฯออกมาช่วยเหลือใดๆ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ขอให้กลุ่มอนันดาฯและสถาบันการเงินช่วยเหลือในการพิจารณาคำขอรีไฟแนนซ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสถาบันการเงินโดยเร่งด่วน

เนื่องจากมีลูกบ้านประมาณ 348 ครอบครัวที่ใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 9 สถาบันการเงิน มีมูลค่ารวมเกือบ 3,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ลูกบ้านได้ผ่อนเงินกู้กับสถาบันการเงินไปแล้ว 3 ปีแล้วหลังจากที่เริ่มทยอยโอนห้องชุดมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561

ล่าสุดมีลูกบ้านส่วนหนึ่งได้รับการปฏิเสธจากสถาบันการเงินแห่งใหม่ในการยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์ โดยสถาบันการเงินให้เหตุผลว่าหลักประกันไม่มีความน่าเชื่อถือตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง รวมถึงการขอ Retention กับสถาบันการเงินเดิมก็ได้รับการปฏิเสธด้วยเช่นกัน

ส่งผลให้ลูกบ้านต้องแบกรับค่าดอกเบี้ยส่วนต่างเพิ่มขึ้นในอัตรา 2-3% ในช่วงหลังปีที่ 3เป็นต้นไป คิดเป็นเงินค่าเสียหายในส่วนนี้ประมาณ 60-90 ล้านบาทต่อปี และหากคดีดังกล่าวต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีอีก 5 ปีจะคิดเป็นค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 300-450 ล้านบาท

“วันนี้ลูกบ้านแอซตัน อโศกมีความรู้สึกเหมือนผ่อนกระดาษเปล่ากับแบงก์ แต่กลับต้องนำเงินที่เก็บหอมรอมริบมาชดใช้หนี้ก้อนโตที่มีสูงเกือบสิบล้านในระยะเวลา 20-30 ปีของการผ่อนเงินงวด  โดยที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าสุดท้ายแล้ว ลูกบ้านจะได้ครอบครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือไม่ หรือว่าตึกนี้อาจจะต้องถูกทุบทิ้งตามคำสั่งศาลลปกครองสูงสุด และลูกบ้านอาจจะไม่ได้รับการชดเชยใดๆจากหน่วยงานราชการหรือเจ้าของโครงการ”

ดังนั้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางกลุ่มลูกบ้านแอซตัน อโศกประมาณ 300 คน พร้อมด้วยผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แอซตัน อโศก ได้รวมตัวกันทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ  เอเชีย จำกัด และประธานเจ้าที่บริหาร บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์  จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้มีการประชุมเพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะปัญหาการทำธุรกิจกับสถาบันการเงิน รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับผู้รายใหม่ที่สนใจจะซื้อห้องชุดต่อจากเจ้าของร่วมบางราย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อมาจากกลุ่มผู้บริหารอนันดาฯ

สำหรับข้อเรียกร้องที่ลูกบ้านต้องการให้กลุ่มอนันดาฯเข้ามาช่วยเหลือในช่วงระยะสั้น คือ ความมั่นใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการในกรณีที่หากแพ้คดีในศาลปกครองสูงสุด รวมทั้งให้เร่งดำเนินการประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ในการขอรีไฟแนนซ์หรือ Retention ให้กับลูกบ้าน

ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางต้องการให้อนันดาฯเปิดออฟชั่นในการรับซื้อคืนห้องชุดคืนหรือแลกเปลี่ยนห้องชุดในโครงการอื่นๆให้กับลูกบ้าน

โดยลูกบ้านอยู่ระหว่างรวบรวมสัญญาจะซื้อจะขาย หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด และเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย รวมถึงจัดเตรียมหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้หากข้อเรียกร้องของลูกบ้านยังไม่ได้รับการตอบรับจากผู้พัฒนาโครงการแอซตัน อโศกภายในกำหนดเวลา 14 วันนับแต่วันนี้ ลูกบ้านแอซตันอโศกกว่า 1,000 คนจากกว่า 600 ครอบครัวจำเป็นต้องยกระดับข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการหรือผู้พัฒนาโครงการต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*