ภาคเอกชนลงทุนอสังหาฯภูเก็ตเผยโมเดล Phuket Sandboxช่วยฟื้นภาคธุรกิจท่องเที่ยว แต่ภาคธุรกิจอสังหาฯยังต้องใช้เวลาฟื้นตัว แนะภาครัฐกำหนดกฎเกณฑ์และพื้นที่ต่างชาติซื้อให้ชัดเจนป้องกันปัญหา แนะขยายใบอนุญาตการก่อสร้างทั่วประเทศออกไปอีก 2 ปี ป้องกันผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้ พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของอาคารได้ ด้านนักธุรกิจไทย เริ่มขยับการลงทุนในภูเก็ต พังงา กระบี่ ในวิถีใหม่ทั้งรูปแบบมารีน่า และ Healthy มากขึ้น เชื่อแม้ลงทุนซื้ออสังหาฯไทยแต่ไม่สามารถนำกลับออกไปได้ และหากบริหารจัดการ One Stop Service จะดึงความเชื่อมั่นได้มาก ส่วนตลาดอสังหาฯสงขลายังชะลอตัว รับโควิด-19 ส่งผลดีมานด์มาเลย์-สิงคโปร์หาย กระทบทุกอุตสาหกรรม คาดฟื้นตัวไตรมาส2/65
นายอิสระ บุญยัง
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยในงานเสวนา ซึ่งจัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ภายใต้หัวหัว “การคาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของกำลังซื้อคนไทย และชาวต่างชาติ หลังโควิด-19” ว่า “ภูเก็ต แซนต์บ็อกซ์”  (Phuket Sandbox) ถือเป็นโมเดลที่ดี โดยตนก่อนที่จะเข้าไปลงทุนที่ภูเก็ต ก็มีการศึกษาข้อมูลหลายปีเช่นกัน โดยเข้าไปหลังการเกิดอุทกภัยปี 2454 เพราะมองว่า ด้วยภูมิศาสตร์ ของภูเก็ต ถือเป็นแหล่งท่าจอดเรือที่ดีของโลก จึงมี “มารีน่า” และ “พูลวิลล่า”ระดับไฮเอนด์ ในภูเก็ตหลายแห่ง อีกทั้งเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางด้านอาหาร และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ทำให้ภูเก็ตมีความน่าสนใจในการลงทุน โดยต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจะเป็นชาวจีนและรัสเซีย  จุดแข็งก็คือมีอสังหาฯที่มีความหลากหลาย จึงมองว่าการฟื้นตัวของภูเก็ตก็ยังต้องใช้ระยะเวลา

คิดว่าการฟื้นตัวยังไม่มีความชัดเจน จากที่ตั้งความหวังว่าจะฟื้นตัวในปลายปี 2564 จึงมองว่าการฟื้นตัวของภูเก็ตจึงต้องใช้ระยะเวลา เพราะเศรษฐกิจในจังหวัดผูกอยู่กับธุรกิจท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการฟื้นตัวจึงยังไม่เร็วอย่างที่คาดไว้ ซี่งผู้ประกอบการทุกรายก็พยายามประคับประคองตนเอง ระมัดระวังในการลงทุน ซัพพลายใหม่ไม่ค่อยมีมากนัก แต่มีการดูดซับอย่างต่อเนื่อง  ส่วนตัวเลขของโรงแรม เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาก็มีการขาดทุนไปเกือบ 900 ล้านบาท ปี 2564 นี้ครึ่งปีแรก ขาดทุนไปเกือบ 500 ล้านบาท ก็จะเห็นว่าการฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง

ส่วนประชากรแฝงในภูเก็ต ถือเป็นกำลังซื้อที่สำคัญ เพราะประชากรจริงของภูเก็ตมีประมาณกว่า 400,000 คนเท่านั้น ที่เหลือเป็นประชากรแฝงกว่า 10 ล้านคน ซึ่งในระยะแรกประชากรแฝงจะเน้นการเช่าที่อยู่อาศัย แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีความคิดหันมาซื้อเพื่ออยู่อาศัยระยะยาว ทั้งคนไทยและต่างชาติ และเมื่อก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19  หลายบริษัทก็เริ่มปรับตัวจากคอนโดฯ หรือ โรงแรมเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ นำมาเป็นอาคารให้เช่าระยะยาว 30 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าห้องพักเหล่านี้สามารถให้เช่าเป็นรายวันและรายเดือนได้ โดยในภูเก็ตจะมีผู้อยู่อาศัย 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนทำงาน  ซึ่งคิดว่ารูปแบบที่อยู่อาศัยในภูเก็ตเป็นการปรับตัวที่ดี ผู้ประกอบการพึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องรอการแก้กฎหมายของภาครัฐ โดยมีเงื่อนไขที่มีความชัดเจน เช่น มีบริษัทประกันเข้ามาดำเนินการ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดี ,การเช่าทั้งหมดก็เป็นตัวแปรใหญ่ และนับวันยิ่งมีความใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2-3 ประการ ที่รัฐบาลได้เสนอพ่วงไป เพื่อให้สิทธิ์นักลงทุนชาวต่างชาติ อาทิ เรื่องวีซ่า ,การซื้ออาคารชุดได้เกินกว่า 49% ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเคยมีกฎหมายในปี 2542 แล้ว ที่ให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยเกิน 49% ได้ เพียงแต่ว่า ณ เวลานั้น ชาวต่างชาติยังไม่มีความเชื่อมั่นในประเทศไทย  ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์และอำนาจในการบริหารจัดการนั้นสามารถกำหนดเงื่อนไขขึ้นมาได้ทั้งหมด อีกทั้งโมเดลของอาคารชุดนั้นง่าย ซึ่งมีกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างละเอียด ส่วนที่อยู่อาศัยราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท ภาครัฐอาจห่วงว่ากำลังซื้อของต่างชาติ จะกระทบต่อความสามารถของคนไทยในการมีที่อยู่อาศัยในระยะยาว ซึ่งสามารถเปิดเป็นโซนพื้นที่ให้ต่างชาติได้

ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่ควรยอมรับคือ ส่วนบางพื้นที่ที่มีการซื้อแบบไม่ใช่ทางตรง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น โดยชาวต่างชาติเหล่านั้นอาจจะเป็นการตั้งบริษัทขึ้นมาและซื้อด้วยบริษัทสัญญาชาติไทย มีการถือหุ้น ซื้อหุ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เคยเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นมาแล้ว พอปิดกิจการไป ประเทศไทยก็จะถูกมองในภาพที่ไม่ดี เพราะเขาจะไม่มองไปที่กลุ่มลงทุนจากต่างชาติที่มาทำเรื่องไม่ดีไว้ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยไม่ดี ดังนั้นภาครัฐสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ได้หมด ซึ่งคิดว่าทุกประเทศทั่วโลกมีความจำเป็นอยู่และเป็นจำเป็นต้องพิจารณา หากไม่นำมาเป็นประเด็นการเมือง ก็สามารถเปิดกำหนดเป็นพื้นที่ได้

และจากสถานการณ์โควิด-19 ในเรื่องการปรับตัวของภาครัฐมีความจำเป็น และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เสนอไปแล้ว ซึ่งได้รับการขานรับจากรัฐบาลแล้ว ในเรื่องการขยายใบอนุญาตการก่อสร้างทั้งประเทศออกไปอีก 2 ปี เพราะมิเช่นนั้นจะมีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้ หากใบอนุญาตหมดอายุ จะกลับมาดำเนินการเช่นเดิมไม่ได้ และขอให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของอาคารได้ เช่น จากโรงแรม เป็นอาคารสำนักงาน ซึ่งมองว่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรแก้ไข

“เรื่องผังเมืองเองหลังจากเกิดโควิด-19 ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก ความเป็นเมืองเพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่แนวคิดของผังเมืองยังเป็นเหมือนเดิม ทุกจังหวัดไข่แดงอยู่ตรงกลาง และบริเวณโดยรอบก็เบาบาง ซึ่งคิดว่าการกำหนดศูนย์กลางเมืองในแต่ละพื้นที่ให้มีหลายศูนย์กลางนั้นมีความจำเป็น และอย่าให้กระจุกตัวอยู่ในศูนย์กลาง จริงๆแล้วภูเก็ตมีการกระจายในหลายศูนย์กลาง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นทุกจังหวัดจึงไม่ควรลอกโมเดลของกทม.ที่ไข่แดงอยู่ตรงกลาง และขณะนั้นเรื่องระบบรางของหัวเมืองใหญ่ๆก็เชื่อมต่อด้วยระบบราง ซึ่งผังเมืองควรที่จะปรับแนวคิด หรือการให้ Work From Home แต่ผังเมืองกำหนดว่าคือที่ตรงนี้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ แต่ห้ามใช้เป็นอาคารสำนักงาน ซึ่งคิดว่ากฎหมายเหล่านี้ควรกลับหัวกลับหางคิดใหม่ได้แล้วหลังเกิดโควิด-19” นายอิสระ กล่าวในที่สุด

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้า จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โอกาสของภูเก็ต มีความหวังจาก “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่ยังพอไปได้ ทำให้ความรู้สึกคนภูเก็ตยังรู้สึกว่ายังพอไปได้ เพราะที่ผ่านมารายได้มาจากการท่องเที่ยวสัดส่วนกว่า 90% เป็นจังหวัดเดียวที่อาศัยเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะเดียวก็มีจังหวัดแรกที่มีประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นอันดับสูงที่สุด ตัวเลขตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-20 กันยายน 2564 มีนักท่องเที่ยวสะสม 82 วัน รวมทั้งสิ้น 34,880 คน โดยนักท่องเที่ยวอันดับ 1 คือคนไทย แต่หากเป็นชาวต่างชาติ อันดับ 1 คือ  สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ อังกฤษ อิสราเอล เยอรมนี  และฝรั่งเศส ส่วนข้อมูลการจองห้องพักต่อคืนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 มียอดการจองของผู้เข้าพัก SHA+ จำนวน 536,399 คืน

และในวันที่ 1 ธันวาคม 2564  นี้อยากให้ภูเก็ตกลายเป็น “ภูเก็ต ฟรีเดย์” (Phuket Free Day)สามารถใช้ชีวิตกินอยู่ได้เหมือนปกติ   ซึ่งแนวคิดของภูเก็ต กำลังก้าวขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากป่วยไข้ก็สามารถไปรักษาได้

ส่วนตลาดอสังหาฯมีผลกระทบ มีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี 2562 ทั้งชาวจีน และรัสเซีย แต่ปัจจุบันทั้ง 2 กลุ่มก็ยังไม่สามารถกลับมาได้   ที่ผ่านมาจะมาซื้อห้องพักในรูปแบบเพื่อการลงทุนและเพื่ออยู่อาศัย แต่ขณะนี้มีปัญหาทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินค่างวด ทำให้ตลาดอสังหาฯภูเก็ตสำหรับชาวต่างชาติมีปัญหา และหลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 การเปิดตัวโครงการใหม่ลดน้อยลง ดีมานด์มีการชะลอตัว หากนักลงทุนจีนและรัสเซีย กลับข้ามาได้ เชื่อตลาดอสังหาฯภูเก็ตควรต้องมีการปรับตัวในเรื่องการชำระเงินค่าเงินค่างวดต่างๆ แต่นักลงทุนก็ยังมีความเชื่อมั่นในภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเป็นพรีเมี่ยม มีวิธีการตรวจสอบทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ภูเก็ตมีความน่าอยู่และปลอดภัย ปัญหาเรื่องอาชญากรรมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เทคโนโลยีต่างๆได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น อีกทั้งมีระบบด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด จะทำให้ภาพรวมภูเก็ตเป็นบวก
นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจไทย เริ่มขยับการลงทุนในภูเก็ต พังงา กระบี่ มากขึ้นในวิถีใหม่ โดยอาจมีรูปแบบมารีน่า และ Healthy มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยบางรายก็มาซื้อกิจการต่อจากชาวต่างชาติ ในอนาคตเชื่อว่าภูเก็ตจะมีกำลังซื้อและทิศทางที่ดี ก็อยากให้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ให้ช่วยเหลือให้ภูเก็ตกู้เงินมาลงทุน เพื่อที่จะสามารถขยับขยายการลงทุนได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีการเปิดโรงแรมเป็นเฟสๆไป แต่ที่สำคัญมากๆคือเรื่องเปิดให้นักลงทันได้เงินกู้เงินลงทุนในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

สำหรับมติครม.ที่จะดึงนักลงทุนที่มีศักยภาพเข้ามา เพราะการเข้ามาลงทุนในภูเก็ตถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็ควรมีข้อควรระวังเป็นเป็นมาตรฐาน และมีกฎเกณฑ์ต่างๆมาเป็นตัวเชื่อมต่อ โดยที่ผ่านมาพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 90% แต่ ณ วันนี้ได้พยายามจะผลักดันให้มีเสาหลักต้นใหม่ๆเกิดขึ้นในภูเก็ต อาทิ เรื่อง EDUCATION เพราะภูเก็ตมีโรงเรียนนานาชาติเป็นจำนวนมากถึง 13 แห่ง  แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง  เช่น ไม่มีโรงเรียนที่รองรับมหาวิทยาลัยให้กับเด็กชาวต่างชาติ และคนไทยที่ส่งลูกหลานมาเรียน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะต้องมีซื้อวิลล่า และลงทุนเพื่อให้ลูกหลานได้มาเรียน ซึ่งควรจะทำให้เป็นโมเดลควบคู่กันไป โดยมีกฎเกณฑ์ที่น่าสนใจ เพราะว่าตลาดไม่ใหญ่มาก  ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วใน ออสเตรเลีย อังกฤษ ซึ่งในภูเก็ตมีโรงเรียนระดับอินเตอร์เกิดขึ้นมามาย และมีความเหมาะสมหลายเรื่อง โดยก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีเที่ยวบินขึ้นลงมากถึง 370-380 ไฟลท์/วัน ทำให้มีการเคลื่อนไหวของผู้ที่เดินทางไปมาระหว่างภูเก็ตและประเทศใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้ภูเก็ตกลายเป็นบ้านหลังที่สองของนักลงทุนเหล่านี้ หากมีการออกแบบดีๆ ทำการตลาดที่ดี ก็จะมีนักลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม Digital Nomad ที่ให้ความในใจเข้ามาลงทุน แต่ไม่มีวีซ่า หากสามารถดึงคนกลุ่มนี้เข้ามา โดยมีเงื่อนไขดีๆ ก็สามารถทำให้เขามาซื้อที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งจะเพิ่มความทันสมัยให้กับภูเก็ต และสิ่งที่จะตามมาก็คือสามารถผลิตและยึดพื้นที่ได้อีกหลายอย่าง ซึ่งมองว่าการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยนั้น มีข้อดีอย่างมโหฬาร และเชื่อว่าแม้ชาวต่างชาติจะเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังไม่สามารถเอาอะไรไปได้ เพียงแต่ว่ารัฐควรมีรูปแบบที่เหมาะสมออกมา ข้อควรระวังก็มีอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น การวางแผนอำนาจเชิงบริหาร ซึ่งควรมีมาตรการที่กำหนดลงไป เพื่อไม่ให้มีอำนาจเกินผู้ที่อยู่อาศัยด้วยกัน เพราะหากไม่ทำเราก็จะเสียเปรียบ โดย ณ วันนี้ประเทศไทยถือว่า “เนื้อหอม” ด้วยความที่คนไทยมีความเซอร์วิสสูง ซึ่งคือเสน่ห์ของประเทศไทย

“อีกเรื่องที่อยากบอกคือคำว่า ‘วัน สต็อป เซอร์วิส’ (One Stop Service)ไม่มีจริงในประเทศไทย มีนักลงทุนต่างชาติที่มาซื้อที่อยู่อาศัยในภูเก็ตขณะนี้ไม่น้อยกว่า 3,000 ยูนิต ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด แต่พอดีเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้เกิดการชะลอตัวไปโดยปริมาณ แต่ถ้าหากบ้าน-คอนโดฯมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ เขาก็มารับบ้าน-คอนโดฯ อีก 49% ตามที่ตกลง หากมีวัน สต๊อป เซอร์วิส ได้ ก็จะสามารถจัดการนักลงทุนต่างชาติได้ ซึ่งควรมองพวกเขาในฐานะเรสซิเดนซ์ได้แล้ว การให้สิทธิประโยชน์บางอย่างแก่ชาวต่างชาติ จะสร้างฮับติดต่อกับนานาชาติได้  เพราะทุกวันนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน” นายธนูศักดิ์ กล่าวในที่สุด

นายธนวัฒน์ พูนศิลป์

นายธนวัฒน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้า จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สงขลาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของภาคใต้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 214,799 ล้านบาท เมื่อการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ธุรกิจอื่นๆก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของสงขลาคือ ชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์  ซึ่งหายไปหมดในช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่วนอสังหาฯในจ.สงขลา มีคนนอกพื้นที่เข้ามาซื้อ-เช่า ที่อยู่อาศัยบ้างในบางส่วน อาทิ นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  สำหรับผลกระทบกับอสังหาฯใน จ.สงขลา  จะเห็นว่านักลงทุนชะลอการลงทุน ดีมานด์ลดลงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน

“ผลกระทบอสังหาริมทรัพย์จังหวัดสงขลา มาจากหลายประการ ตั้งแต่เรื่อง  Loan to Value (LTV) ทำให้อารมณ์ของผู้ซื้อชะลอตัว ,เกิดการการว่างงาน มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น,สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ,ผลจากมาตรการโควิด-19 ,ดีมานด์ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจ และนักลงทุนชะลอการลงทุน ทำให้กำลังซื้อหายไปมาก  แม้กระทั่งกลุ่มคนทำงานราชการที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ชะลอการซื้อออกไปด้วยประมาณ 1-2 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีคอนโดฯประมาณ 5,000-6,000 ยูนิต และบ้าน 6,000-7,000 ยูนิต รวมแล้ว 10,000 กว่ายูนิต” นายธนวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้คาดการณ์ว่าธุรกิจอสังหาฯใน จ.สงขลา จะฟื้นตัวได้ก็ต่อเมื่อประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ฟื้นตัว สามารถเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนในประเทศไทยได้ คาดว่าจะลากยาวไปไตรมาส 2/2565 ขึ้นไปจึงจะฟื้นตัว ซี่งขณะนี้ก็ทำด่านนอกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั้ง 2 ประเทศอยู่ และสถาบันการเงินผ่อนคลาย การเปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งขณะนี้ไม่ได้คาดหวังเพียงมาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 นี้ กำลังจะเปิดเมืองเป็น “หาดใหญ่ แซนด์บ็อกซ์ พลัส” (Hatyai Sandbox Plus) เตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัย ให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เดียงเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและลงทุนก่อน ส่วนดีมานด์ที่เป็นนักลงทุนหายไปค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันหากหนี้สินครัวเรือนยังมาก การว่างงานมาก กำลังซื้อก็หายก็น่าวิตกอยู่  ส่วนราคาเหล็กและวัสดุเพิ่มก็ปรับสูงขึ้น  การชะลอซื้อรอตัดสินใจ มองว่าหากหากฉีดวัคซีนได้มากกว่า 80% หรือได้เต็ม 100% ก็จะดึงความเชื่อมั่นกลับมา โดยเฉพาะความเชื่อมั่นจากกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่จะกลับเข้ามาก่อน ส่วนกลุ่มที่ยังไม่แข็งแรงก็คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาภายในระยะเวลา 6-9 เดือน ซึ่งผู้ประกอบการจะหันมาพัฒนาโครงการแนวราบกันมากขึ้น  งบลงทุนภาครัฐในสงขลาก็ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ถูกชะลอตัวออกไป

ส่วนมติครม.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มองในแง่ดี จะช่วยเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะดึงนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาซื้ออสังหาฯและอยู่อาศัยระยะยาว เพราะชาวต่างชาตินั้นมีความสนใจอสังหาฯเพราะถูกกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด 4 ประเด็นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการช่วยกระตุ้นให้ต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เชื่อว่าหากทำจุดนี้ให้ดี ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

“ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยขาดคนเก่งในหลายๆด้าน เพราะฉะนั้นหากอยากได้คนเก่ง เหมือนมีคนเก่งที่ไปอยู่สิงคโปร์ อังกฤษ อเมริกา แปลว่าแต่ละประเทศต้องให้สิ่งดีๆกับเขาๆถึงจะเข้าไปลงทุน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตรการของภาครัฐ แต่ทั้งนี้ต้องมาดูในรายละเอียด”นายธนวัฒน์ กล่าวในที่สุด

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*