ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากการรวบรวมสถิติการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในประเทศไทยช่วงปี 2561จนถึงครึ่งแรกปี 2564 พบว่า มีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดประมาณ 39,000 ยูนิต มูลค่ารวม 166,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 12,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะในช่วงปี 2561-2563 มีจำนวนห้องชุดที่ลูกค้าต่างชาติซื้อเพื่ออยู่อาศัยทั่วประเทศจำนวน 34,653 ยูนิต มูลค่า 145,598 ล้านบาท คิดเป็นพื้นที่ห้องชุดที่รับโอนกรรมสิทธิ์สะสมรวม 1,408,310 ตร.ม.หรือเฉลี่ยทั้งประเทศมีเพียงแค่ 10.7% ของพื้นที่ห้องชุดทั้งหมด โดยพื้นที่ที่มีการถือครองกรรมสิทธิ์มากที่สุด  3 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 777,961 ตร.ม. ภาคตะวันออก 433,399 ตร.ม. และภาคเหนือ 102,902 ตร.ม.

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19  ปี 2561-2562 มีจำนวนเฉลี่ยปีละ 13,183 ยูนิต คิดเป็นมูลค่ารวม 53,932 ล้านบาท ขณะที่ช่วงปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 การโอนกรรมสิทธิ์ลดลงมาอยู่ที่ 8,285 ยูนิต มูลค่าประมาณ 37,716 ล้านบาท  ล่าสุดในช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีการโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติประมาณ 4,358 ยูนิตเท่านั้น มูลค่ารวม 20,449 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์จากการซื้อขายห้องชุดช่วงก่อนเกิด COVID-19 ปี 2561-2562

สำหรับภูมิภาคที่มีอัตราส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติสูงสุด คือ ภาคตะวันออก 29.7% ภาคเหนือ 20% และภาคใต้ 16.5% ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งมีชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด แต่กลับมีอัตราส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแค่ 7.6% เท่านั้น

ขณะที่จังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย กรุงเทพฯ 49.4% ชลบุรี 30.2% เชียงใหม่ 7.1% ภูเก็ต4.9% และสมุทรปราการ 4.5%

โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในประเทศไทยมากที่สุด คือ ลูกค้าสัญชาติจีน ส่วนใหญ่จะถือครองกรรมสิทธิ์ในจังหวัดกรุงเทพฯ ชลบุรี และสมุทรปราการ รองลงมาเป็นลูกค้าสัญชาติรัสเซีย จะถือครองกรรมสิทธิ์ในจังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มลูกค้าสัญชาติสหราชอาณาจักร จะถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในจังหวัดชลบุรี กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ขณะที่ลูกค้าสัญชาติฝรั่งเศส จะถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในจังหวัดชลบุรี กรุงเทพฯ และจังหวัดภูเก็ต  กลุ่มลูกค้าสัญชาติญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ถือครองกรรมสิทธิ์ในจักรุงเทพฯ ชลบุรี และสมุทรปราการ

“แม้ภาพรวมของการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติในเมืองไทยจะมีอยู่แค่ 10.7% ของพื้นที่ห้องชุดทั้งหมด แต่ก็มีบางโครงการในพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ชลบุรี หรือโซนซีบีดีของกรุงเทพฯ อาจมีความต้องการถือครองกรรมสิทธิ์พื้นที่ห้องชุดในอัตราส่วนที่สูงกว่า 49%”

ดังนั้นภาครัฐอาจมีการพิจารณาขยายอัตราส่วนการครอบครองกรรมสิทธิ์พื้นที่ห้องชุดสูงกว่า 49% ในบางพื้นที่และบางจังหวัดได้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออาจกำหนดให้การถือครองกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติในพื้นที่ห้องชุดที่เกินกว่า49% จะต้องเป็นห้องชุดที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาทเท่านั้น และควรมีข้อกำหนดให้สิทธิในการออกเสียงของคนต่างชาติได้ไม่ 49% ของอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด เพื่อสงวนสิทธิ์การบริหารนิติบุคคลให้ผู้ถือครองคนไทยยังเป็นเสียงส่วนใหญ่

ดร.วิชัยกล่าวเสริมว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้สิทธิแก่คนต่างชาติกลุ่มที่มีความมั่งคั่งได้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมากกว่าปัจจุบันนั้น หากสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ก็จะสามารถช่วยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง แต่การดำเนินการเรื่องนี้คงจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งที่เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมาย การวางกฎระเบียบ และการวางแนวทางการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดอีกมาก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*