ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงข้อมูลดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในไตรมาส 3 ว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 334.4 จุด เพิ่มขึ้น 0.5%  เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าราคาที่ดินยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563

ทั้งนี้หากดูค่าเฉลี่ยอัตราขยายตัวย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558-2562 ก่อนเกิดวิกฤตการระบาดของ COVID-19 จะพบว่าค่าเฉลี่ยดัชนีราคาที่ดินเปล่าในแต่ละไตรมาสเพิ่มขึ้นประมาณ 14.8% ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4.1% ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการขยายตัวของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเริ่มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีต่อเนื่องกันมา 3 ไตรมาสแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 1 มาจนถึงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยเฉพาะราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่ยังคงเพิ่มขึ้นแต่เป็นแบบชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เจ้าของที่ดินส่วนหนึ่งอาจมีการถือครองที่ดินเก็บไว้เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และอีกส่วนหนึ่งอาจจะขายที่ดินในช่วงนี้เพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ จึงทำให้ราคาที่ดินปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก

โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับราคาเพิ่มขึ้นในบริเวณที่มีรถไฟฟ้าผ่านเป็นหลัก และในบริเวณส่วนปลายของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เปิดให้บริการแล้ว โดยเฉพาะสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันมา 4 ไตรมาสแล้ว ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 33.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  โดยเฉพาะในเขตหนองแขม และบางแค ที่ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นมากติดต่อกันมา 4 ไตรมาสแล้ว

ส่วนที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในทำเลรถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) และสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ที่เปิดให้บริการแล้ว และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 31.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าวิ่งผ่านในเขตบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย คลองสาน  และพระนคร เมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก

ด้านราคาที่ดินในทำเลรถไฟฟ้า MRT ที่เปิดให้บริการแล้ว และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 31.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะที่ดินในเขตบางซื่อและจตุจักร ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนทำเลรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 29.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตตลิ่งชัน บางพลัด และอำเภอบางกรวย

ขณะที่ราคาที่ดินทำเลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีความคืบหน้าแล้วกว่า 86.26% มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 29.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ห้วยขวางและบางกะปิ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*