จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19)  ที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น  ทำให้สถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน  ที่ให้บริการด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่น ๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปี 2564 และปี 2565

นายพงษ์ศักดิ์  คำนวนศิริ  รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานสินเชื่อ   ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า  ธอส. ได้ขยายระยะเวลาความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มาตั้งแต่ปี 2563  ภายใต้โครงการ “ธอส.รวมไทย สร้างชาติ”   ต่อไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564   ผ่าน  5 มาตรการครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ สถานะ NPL และลูกหนี้สถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ประกอบด้วย มาตรการที่ 9, 10 และ11  แบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25%,50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน มาตรการที่ 13 พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ (ไม่เป็น NPL ไม่อยู่ขั้นตอนของกฎหมาย และไม่อยู่ระหว่างทำข้อตกลงประนอมหนี้) และต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจ,การค้าเนื่องจาก COVID-19

และมาตรการที่ 14 : พักชำระเงินต้น และจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน พร้อมลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.90%ต่อปี  สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL และลูกหนี้ NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้

นายอิสระ วงศ์รุ่ง รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าบุคคล กล่าวว่า ธนาคารได้อนุวัติวงเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19ไปแล้วจำนวน 142,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน โดยให้ลูกค้าพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 25%-100% หรือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงธันวาคมนี้

รวมทั้งมาตรการรวมหนี้ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ระหว่างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นมาอยู่ในบัญชีเดียวกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อพัฒนากลุ่มอาชีพ สินเชื่อฐานราก เป็นต้น เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนให้กับลูกหนี้

นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองผ่านแคมเปญ “สินเชื่อบ้านกู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” คิดดอกเบี้ย 0% นาน 6 เดือนและไม่ต้องผ่อนเงินงวดคืนให้กับธนาคารในช่วง 6 เดือนนี้ โดยลูกค้าจะต้องได้รับการอนุมัติและจัดทำนิติกรรมสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ 30 ธันวาคมนี้

นายชัยยศ   ตันพิสุทธิ์   ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)   กล่าวว่า  ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จำนวน  3 ทางเลือก คือ   ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยและลดอัตราดอกเบี้ย 0.10% เป็นระยะเวลา 3 เดือน   ลดยอดผ่อนชำระต่องวด 50% เป็นเวลา 3 เดือน   และ  เลื่อนการชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นเวลา 3 เดือน

ทั้งนี้ลูกค้าสามารถชำระหนี้มากกว่าเงื่อนไขที่เข้าร่วมมาตรการได้  เพื่อลดยอดหนี้หรือดอกเบี้ยผ่าน K Plus โดยไม่ต้องแจ้งธนาคาร และสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้

 นายอภิรัฐ เหล่าสินชัย  VP ผู้จัดการศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ในส่วนของแบงก์กรุงเทพมีมาตรการลดภาระการชำระหนี้ให้กับลูกค้าผ่านสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออเนกประสงค์ที่ใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน  4 มาตรการคือ  การปรับลดค่างวด  พักชำระเฉพาะเงินต้น และพิจารณาให้ชำระดอกเบี้ยเพียงบางส่วน  พักชำระเฉพาะเงินต้น และพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย   พักชำระค่างวด  เพื่อให้ลูกค้าสามารถวางแผนทางการเงินของตัวเองได้

นางสาวพัชรินทร์  สุงสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน Retail Lending  Product Management  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาโดยตลอดตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละราย  เช่น การปรับลดค่างวดและหรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ การพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน โดยลูกค้าสามารถขอเข้ารับมาตรการช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ที่ SCB Call Center หรือ SCB Easy App

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*