“มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ”รับไม้ต่อสวมหมวกนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย พร้อมสานต่อนโยบายเดินหน้ากระทุ้งภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจฟื้น-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ระบุศักยภาพการแข่งขันยังด้อยประเทศเพื่อนบ้าน แนะต้องผลักดันภาคอสังหาฯ-บริการมากขึ้น หวังสร้างรายได้เข้าประเทศ
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย  เปิดเผยภายหลังจากที่รับตำแหน่งต่อจาก นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ที่หมดวาระไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ว่า ตนถือว่าเป็นนายกสมาคมฯคนแรกที่มาจากอสังหาฯในต่างจังหวัด ในรอบ 49 ปี นับจากที่ก่อตั้งสมาคมฯมา ซึ่งเดิมสมาคมอสังหาฯมีเฉพาะในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล และต่อมาก็มีนโยบายขยายและผลักดันให้อสังหาฯต่างจังหวัดก่อตั้งสมาคมอสังหาฯในแต่ละจังหวัดขึ้นมา เพราะเป็นหนี่งในธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะหากธุรกิจอสังหาฯโตก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในต่างจังหวัดด้วย โดยปัจจุบันสามารถก่อตั้งได้แล้ว 14 จังหวัด และในปี 2565 มีอีก 2 จังหวัดที่พยายามก่อตั้งขึ้นมาเป็นสมาคมฯคือ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายๆจังหวัดที่จะพยายามผลักดันเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะในหลายจังหวัดยังมีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องผังเมือง ที่อยากให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพราะยังเป็นปัญหาอยู่จนทุกวันนี้ เนื่องจากภาคเอกชนถือว่าเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ ดังนั้นต้องสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน

“การที่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมอสังหาฯในส่วนกลาง จะช่วยผลักดันนโยบายจากส่วนกลางได้ดีขึ้น และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีในอนาคตหากอยู่แต่ในชลบุรี ก็จะแก้ไขได้แต่ในจังหวัดและพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เท่านั้น ส่วนนายกอสังหาฯชลบุรี คงมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม 2564 นี้”นายมีศักดิ์ กล่าว

นายมีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯแล้วตนคงสานต่อนโยบายต่อเนื่องจากที่นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ อดีตนายกสมาคมฯเคยผลักดันและขับเคลื่อนไว้ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการระยะสั้น เช่น การขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองที่จะหมดอายุในสิ้นไป 2564 ออกไปอีก 1 ปี  แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จะผ่อนปรนมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) แล้ว แต่ก็มีแบงก์ใหญ่หลายแห่ง ที่ยังไม่ดำเนินการตามเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีเพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่าง ที่มีปัญหาเรื่อง Reject  ในขณะที่ที่อยู่อาศัยระดับกลางขึ้นไปยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่หากภาครัฐจะช่วยกระตุ้นด้วยการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ด้วยก็จะยิ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ เพราะเชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯจะยังคงชะลอตัวไปอีกอย่างน้อย 1 ปีแน่นอน

สำหรับมาตรการระยะยาว ก็อยากให้ภาครัฐออกมาตรการให้คนที่มีเงินออม ออกมาซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มที่ซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อปล่อยเช่าให้กับผู้มีรายได้น้อย ที่อาจจะมีการระบุวงเงินที่ชัดเจน ซึ่งต้องนำมาพิจารณากัน

นอกจากนี้อยากให้ภาครัฐผลักดันให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยในย่านใจกลางเมืองมากขึ้น  เพื่อลดปัญหาทางสังคม เพราะมองว่าการที่การภาครัฐโดยการเคหะแห่งชาติ(กคช.)มีแผนที่จะพัฒนาบ้านเช่าสำหรับกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีสถานะโสด กลุ่มครัวเรือนใหม่และกลุ่มครอบครัว จำนวน 100,000 ยูนิต ภายใน 5 ปี นั้น มองว่ายังไม่ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องทำงานในเมือง เพราะที่ดินแต่ละแปลงที่จะนำมาพัฒนานั้นล้วนอยู่ไกลจากพื้นที่ใจกลางเมือง และต่างจังหวัด ทำให้เสียเวลาในการเดินทางอีก จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนอย่างจริงจัง ก็จะสร้างโอกาสได้มากกกว่า ทั้งยังเป็นการลดภาระของภาครัฐอีกด้วย

อีกประเด็นที่อยากให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือ คือ เรื่องการกระตุ้นให้ชาวต่างชาติ เข้ามาจับจ่ายใช้สอยและอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น เพราะเป็นประเทศที่คนทั่วโลกให้การยอมรับ หากภาครัฐสามารถขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวได้ ก็จะมีโอกาส และช่วยขยายการเติบโตในท้องถิ่นได้โดยตรง รวมไปถึงอยากให้เอื้อในเรื่องธุรกิจ Wellness และการรักษาพยาบาลด้วยการเชื่อมโยงประกันสุขภาพจากทั่วโลก โดยที่ลูกค้าชาวต่างชาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งช่วยสร้างรายได้ให้กับวงการแพทย์ พยายาบาล ด้วย

นอกจากนี้ในปี 2565 ทางสมาคมฯยังมีแผนที่จะร่วมกับอสังหาฯในทุกๆพื้นที่ โดยประเด็นแรกจะคุยเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และภาครัฐในท้องถิ่น เพราะผังเมืองมีส่วนสำคัญในการเอื้อในการพัฒนาพื้นที่

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯในปี 2565 นั้นแม้ว่าหลายคนจะยอมรับว่าตลาดเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังเป็นระยะสั้น เพราะศักยภาพการแข่งขันในประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด และยังน่าเป็นห่วง เพราะพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่ได้เข้มแข็ง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกลับมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งต้องดูบริบทใหม่ ด้วยการผลักดันภาคอสังหาฯและบริการมากขึ้น ที่ภาครัฐคงต้องหาแนวทางเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศต่อไป

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*