การร่วมทุนของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติมีให้เห็นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะเห็นว่าโครงการที่เกิดจากการร่วมทุนกันจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม แต่ช่วง 1 – 2  ปีที่ผ่านมามีโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้นแบบเห็นได้ชัด ผู้ประกอบการต่างชาติบางรายร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยเพื่อพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรก็มี และผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการกับผู้ประกอบการไทยมากที่สุดเช่นเดิม อาจจะมีโครงการที่เกิดจากการร่วมทุนของผู้ประกอบการจากประเทศจีนหรือฮ่องกงกับบริษัทขนาดเล็กหรือนักลงทุนชาวไทยบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก และเป็นการร่วมทุนกันแบบรายโครงการมากกว่า ในขณะที่ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยนั้นจะเป็นการร่วมมือกันในระยะยาวบางรายมีโครงการร่วมกับผู้ประกอบการไทยมากกว่า 30 โครงการแล้วก็มี

ช่วงปี พ.ศ. 2564 อาจจะมีการร่วมทุนของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติไม่มากนัก แต่ก็ยังคงมีโครงการที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทั้ง 2 กลุ่ม แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องของการร่วมทุนมากที่สุดในปีนี้ และเป็นผู้ประกอบการที่มีพันธมิตรเป็นต่างชาติอยู่แล้วที่ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาโครงการใหม่ เช่น บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ที่มีการร่วมทุนกับทั้งพันธมิตรเดิมคือ โนมูระ เรียลเอสเตท และพันธมิตรใหม่ คือ โตคิวแลนด์ จากประเทศญี่ปุ่นทั้งคู่ในการร่วมกันพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม อีกรายที่มีการร่วมทุนกับพันธมิตรเดิมในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกัน คือ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีการเปิดขายโครงการร่วมกับกลุ่มฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์คอร์ป อีกหลายโครงการในปี พ.ศ.  2564 บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการไทยอีกรายที่มีการพัฒนาโครงการใหม่ร่วมกับบริษัท ฮ่องกงแลนด์ จำกัด ในปี พ.ศ.2564 จากที่เคยร่วมกันพัฒนาโครงการมาก่อนหน้านี้แล้ว ผู้ประกอบการอีกรายที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติรายเดิมที่เคยร่วมทุนกันมาก่อนหน้านี้คือ บริษัท ออล อินสไปร์ส ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยมีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงยึดถือพันธมิตรเดิมเป็นหลักในการขยายการลงทุน และไม่หยุดที่จะหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อให้การลงทุนเกิดขึ้นต่อเนื่อง และเป็นการลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการไปในตัว

นอกจากกลุ่มของผู้ประกอบการรายใหญ่แล้ว ยังมีผู้ประกอบการรายกลางหรือว่ารายเล็กที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติด้วยเช่นกัน เพียงแต่จำนวนโครงการหรือมูลค่าในการลงทุนอาจจะไม่มากนัก และบางครั้งเป็นการร่วมทุนกันเพียง 1 โครงการเท่านั้น โดยในปี พ.ศ.2564 มีผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีการร่วมกันพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมร่วมกับผู้ประกอบการต่างชาติด้วยเช่นกัน เช่น เอ็นริช กรุ๊ป ที่ร่วมทุนกับไซบุ แก๊สจากประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรร่วมกันและเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่แล้ว บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) ประกาศว่ามีการร่วมทุนกับ 2 บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมร่วมกัน ซึ่งจากที่มีการประกาศความร่วมทุนมานั้นเกือบทั้งหมดเป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น อาจจะมีชาติอื่นบ้างแต่ก็น้อยมาก มีผู้ประกอบการจากประเทศจีน ฮ่องกงบางรายที่เปิดขายโครงการใหม่ในปี พ.ศ.2564 แต่ไม่ได้เป็นการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย เช่น ยูโทเปีย คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเปิดขายโครงการวิลล่าในภูเก็ต เป็นบริษัทที่มีนายทุนจีน แต่ตั้งบริษัทในประเทศไทยตามกฎหมายประเทศไทย ผู้ประกอบการจีนที่มีการเปิดขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเข้ามาร่วมทุนกับคนไทยแบบเป็นรายบุคคลมากกว่าที่จะร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย หรือร่วมทุนกับบริษัทขนาดเล็กของประเทศไทย เพราะผู้ประกอบการจีนเน้นที่การบริหารจัดการบริษัททั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ

ทิศทางของการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติในปี พ.ศ.2565 จะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง เพียงแต่คงไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสร้างความฮือฮาหรือน่าสนใจมากกว่าที่ผ่านมาแล้ว อาจจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากประเทศจีนเข้ามาเปิดตัวว่ามีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาโครงการร่วมกัน แต่ยังคงต้องติดตามต่อไปในปีหน้า ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มีโครงการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการไทยมาก่อนหน้านี้แล้วจะยังคงรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ต่อเนื่อง เพียงแค่ผู้ประกอบการบางรายอาจจะเลือกที่จะชะลอการลงทุนไว้ก่อน รอให้โครงการต่างๆ ที่ลงทุนร่วมกันปิดการขายและโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยเพื่อแบ่งผลประโยชน์ต่างๆ ก่อนจึงค่อยเดินหน้าต่อ แต่ถ้าผู้ประกอบการไทยรายไหนต้องการพันธมิตรเพิ่มเติมก็จะยังคงเดินหน้าหาผู้ประกอบการต่างชาติเช่นเดิม อีกทั้งไม่ได้ยึดติดว่าต้องร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติรายใดรายหนึ่งเท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ประกอบการไทยบางรายที่มีพันธมิตรเป็นผู้ประกอบการต่างชาติหลายราย และผู้ประกอบการต่างชาติบางรายมีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยมากกว่า 1 รายก็มี

ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบในการดึงดูดหรือสร้างความน่าสนใจในสายตาของผู้ประกอบการต่างชาติ เพราะด้วยขนาดของการลงทุน และความชัดเจนในเอกสารต่างๆ รวมไปถึงรายได้จากการขายที่ค่อนข้างชัดเจนว่าสามารถปิดการขายหรือขายได้รวดเร็วกกว่าผู้ประกอบการรายที่มีขนาดเล็กกว่า ผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็กจำเป็นต้องเป็นบริษัทที่มีรายได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา หรือมีรายได้จากกิจการอื่นๆ ที่มากพอจะพัฒนาโครงการร่วมกับผู้ประกอบการต่างชาติ ผู้ประกอบการต่างชาติส่วนใหญ่ใช้เวลาในการพิจารณาเลือกพันธมิตรค่อนข้างนาน เพราะเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์จำนวนมาก ผู้ประกอบการหรือบริษัทจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น และจีนหรือฮ่องกง อาจจะมีเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยบ้าง เพียงแต่จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น และจีน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*