จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โบรกเกอร์ที่ปรึกษาอสังหาฯต้องปรับตัวรับมือกับวิกฤติดังกล่าว ทำให้รูปแบบการขายเปลี่ยนไปให้เข้ากับยุค New Normal โดยมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อสร้างโลกเสมือนให้ลูกค้าสามารถชมโครงการทุกอย่างได้เสมือนมาชมห้องตัวอย่างบนที่ตั้งโครงการจริง  เพื่อสามารถปิดการขายได้เร็ว และAI และ Metaverse จะเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตในยุคใหม่และการลงทุนมากขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2565 ตลาดคอนโดฯยังคงไม่ฟื้นตัวมากนัก ขณะที่ตลาดแนวราบยังได้รับการตอบรับที่ดีจากเรียลดีมานด์  การพัฒนาโครงการใหม่ก็จะไปอยู่รอบนอกใจกลางเมืองตามแนวการขยายตัวของรถไฟฟ้ามากขึ้น  ด้านดีลการซื้อที่ดินย่านซีบีดีในราคาทุบสถิติอีกนั้น คาดว่าในปี 2565 จะยังไม่เกิดขึ้น ส่วนการร่วมทุนของผู้ประกอบการไทยและพันธมิตรต่างชาติ ก็ยังคงไม่หวือหวา เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 ด้านธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก  และอาคารสำนักงานก็ยังต้องฝ่าวิกฤติไปให้ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรงแรม ที่ผ่านมาได้มีการเจ้าของโรงแรมหลายแห่งประกาศขายผ่านโบรกเกอร์ และขายตรงเป็นจำนวนมาก และกลุ่มที่ซื้อต่อไปส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ส่วนธุรกิจโรงงานและคลังสินค้านั้น ยังเติบโตได้ดี
นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร
รุกทำตลาดโดยตรง เน้นReal Demand ทั้งเรื่องราคารูปแบบ
 นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด (CBRE)เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 ที่ผ่านมาค่อนข้างชัด ตลาดคอนโดฯกลางเมืองมีโครงการเปิดตัวใหม่น้อยมาก เพราะผู้พัฒนาโครงการทุกรายหันไปให้ความสนใจรอบนอก เนื่องจากมีทำเลใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายทำเล จากการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าและถนนใหม่ๆ อีกทั้งราคาที่ดิน และที่อยู่อาศัยในทำเลรอบนอกมีราคาที่จับต้องได้มากกว่าสำหรับผู้ซื้อชาวไทย

สำหรับดีมานด์ด้านคอนโดมิเนียมในปี 2565 นั้นยังไม่กลับมาเท่าที่ควร เนื่องจากผู้ซื้อได้รับผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจ และรายได้ ผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรหายไปค่อนข้างมาก แต่สำหรับผู้ซื้อเพื่ออยู่เอง (Real Demand) โดยเฉพาะระดับบน (Top-End) ยังคงมีอยู่ แต่ว่าผู้ซื้อกลุ่มนี้ก็ยังคงมองหาข้อเสนอที่ดีที่สุดในตลาดเช่นเดียวกัน ขณะที่ดีมานด์ของบ้านเดี่ยวสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากผู้ซื้อต้องการพื้นที่ใช้สอยและความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้น และบ้านเดี่ยวที่เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งมีความหนาแน่นต่ำ ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าไม่ต้องแชร์ส่วนกลางหลายๆ ส่วนกับลูกบ้านคนอื่น ๆ

ส่วนรูปแบบการขายในปี 2565 นั้นเปลี่ยนไปแน่นอน มาตรการ Lockdown และการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นจุดบังคับที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ต้องปรับเปลี่ยนแนวการขายเพื่อให้ผ่านสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ ไปได้ จากเดิมที่ลูกค้ามาเยี่ยมชมโครงการ หรือมีการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา ต้องเปลี่ยนเป็นการขายโดยผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นการจัดทำข้อมูลอย่างละเอียด และเสมือนจริงเป็นหัวใจสำคัญ โดยผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น อีเมล Line  WhatsApp เว็บไซต์และอื่น ๆ การใช้เทคโนโลยี ไลฟ์หรือการส่งวีดีโอลิงก์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลและได้เห็นโครงการ เสมือนลูกค้าได้เข้ามาเยี่ยมชมโครงการและพูดคุยกับพนักงานขายด้วยตัวเอง

“จากการเดินทางหรือการทำกิจกรรมนอกบ้านที่น้อยลง ทำให้ลูกค้าใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน การหาข้อมูลต่าง ๆ จะผ่านทางช่องทางออนไลน์ และ Social Media บริษัทต่าง ๆ จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการเข้าถึงลูกค้าให้มาเป็นออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และสำหรับ CBRE เราใช้สื่อออนไลน์มากกว่า 90% ของแผนการตลาดทั้งหมด” นางสาวอลิวัสสา กล่าว

อย่างไรก็ตามมองว่าในปี 2565 ยังคงเห็นภาพการร่วมทุนของบริษัทต่างชาติ และยังมีบริษัทต่างชาติที่ยังสนใจร่วมทุนกับผู้ประกอบการในไทย แต่กลุ่มบริษัทต่างชาติใหม่ๆอาจต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับตลาดและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน  ด้านผู้ที่เคยมีการลงทุนอยู่แล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจกับแนวโน้มใหม่ของตลาดอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

ส่วนการนำสกุลเงินดิจิทัลเข้ามาเป็นหนึ่งในช่องทางการชำระเงิน เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่มาก และเป็นหนึ่งในช่องทางการตลาดที่ขยายตัวดีสำหรับในทุก ๆ ตลาด เนื่องจากผู้คนให้ความสนใจการลงทุนเรื่องในสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น แต่เทรนด์นี้เองยังมีความไม่ชัดเจนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการควบคุมจากภาครัฐและการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังมีความกังวลเรื่องนี้อยู่ จึงทำให้อาจต้องรอดูไปอีกสักระยะว่าเทรนด์นี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

“เทรนด์ที่จะมาเสริมกลยุทธ์ในปี 2565 น่าจะเป็นเรื่องของตัวโครงการเองมากกว่าจะเป็นการทำการตลาดโดยตรง ที่ต้องปรับให้เข้ากับดีมานด์กลุ่มที่เป็น Real Demand ที่อยู่อาศัยเอง ทั้งในเรื่องของราคาและรูปแบบ” นางสาวอลิวัสสา กล่าว

สำหรับลูกค้าต่างชาตินั้น มีแนวโน้มที่ดีที่จะกลับมาในปี 2565 โดยจะเป็นลูกค้าประเภทผู้ที่ซื้อเพื่ออยู่เองหรือที่รู้จักประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งผู้ซื้อกลุ่มนี้ซื้อเพื่อใช้เป็นบ้านหลังที่สอง และลงทุนระยะยาว แต่หากเป็นลูกค้าประเภทนักเก็งกำไรคาดว่าน่าจะยังไม่กลับมา จนกว่าสถานการณ์ทั้งในเมืองไทยและประเทศของตนเองดีขึ้น รวมถึงมีสภาพคล่องในการเงินที่ดีขึ้นด้วย

 

“ดีลการซื้อขายที่ดินราคาต่อตารางวา ในย่านซีบีดีที่เป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในปี 2565 คาดว่าน่าจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากผู้พัฒนาโครงการยังโฟกัสที่การทำโครงการบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น”

 

นายภัทรชัย ทวีวงศ์
คาดตลาดคอนโดฯพลิกกลับฟื้นตัวแนวราบยังเป็นดาวเด่น
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทิศทางของตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2565 จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งเห็นถึงสัญญาณที่ดีตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลาย การกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถานได้มีการผ่อนปรน ควบคู่ไปกับจำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือมาตรการเปิดประเทศจากทางภาครัฐฯ ที่อนุญาตให้มีการเปิดประเทศตั่งแต่วันที่  1 พฤศจิกายน 2564  ที่ผ่านมา ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยไม่สะดวกมากขึ้น รวมถึงปัจจัยบวกในเรื่องที่การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศผ่อนปรนมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) เป็นการชั่วคราว มีผลบังคับใช้สำหรับสัญญาเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2565 ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมกลับมาคึกคักมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้พัฒนามีความเชื่อมั่นในตลาดคอนโดมิเนียมว่าจะมีการตอบรับที่ดีจากผู้ซื้อ จึงเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีหน้ากันอย่างคึกคัก ซึ่งฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์สฯคาดการณ์ว่า อุปทานเปิดตัวใหม่ในปี 2565 อาจปรับตัวมาอยู่ที่ประมาณ 24,000 ยูนิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนหน้าประมาณร้อยละ 28.5 จะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากที่ตลาดซบเซามากว่า 3 ปี

 

และคาดการณ์ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกหรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะช่วงรามคำแหง – ลำสาลี  รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเฉพาะถนนรามอินทรา และทำเลย่านบางนา ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมกันอย่างคึกคักในปี 2565

โดยคาดการณ์ว่าตลาดแนวราบ จะยังคงเป็นตลาดดาวเด่นของภาคอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 อย่างต่อเนื่อง  ผู้พัฒนารายใหญ่ยังคงเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาแนวราบมากขึ้นและมองหาทำเลใหม่ๆ เพื่อที่จะเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดยุทศาสตร์ที่สำคัญ  โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)และจังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น

 

“แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยภาพรวมจะยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง บ้านก็ยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน  ซึ่งคาดการณ์ว่า ยอดขายตลาดแนวราบในปี 2565 จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ”

สำหรับตลาดพื้นที่สำนักงานในปี 2565  เป็นตลาดที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเนื่องจากคาดการณ์ว่าในปี 2565 -2566 จะเป็นช่วงเวลาที่มีอุปทานใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเข้าสู่ตลาดอีกเกือบ 1 ล้านตารางเมตร ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับผู้พัฒนาพื้นที่สำนักงานในประเทศไทยพอสมควร หากพื้นที่สำนักงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเหล่านั้นไม่สามารถดูดซับได้อย่างที่คาดการณ์ไว้

ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย

ภาพรวมตลาดโรงแรมในประเทศไทยในปี 2565  คาดการณ์ทิศทางว่า จะยังคงเป็นอีกปีที่ผู้พัฒนาจะต้องประคับประคองธุรกิจให้สามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้  ปัจจัยที่จะเข้ามากระทบที่จะต้องเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ในประเทศไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หากรัฐบาลสามารถรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี อาจส่งผลให้สถานการณ์ภาพรวมธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยในปี 2565 ปรับตัวดีขึ้น ขานรับมาตรการเปิดประเทศจากทางภาครัฐฯ ที่อนุญาตให้มีการเปิดประเทศตั่งแต่วันที่  1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าสู่เมืองไทยมากขึ้น แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ปี 2565 ก็จะเป็นจะเป็นอีกปีที่ค่อนข้างยากลำบากสำหรับธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ซึ่งอาจจะพบเห็นภาพของการประกาศขายธุรกิจโรงแรมเพิ่มมากขึ้น และภาพของการรับซื้อธุรกิจโรงแรมจากกลุ่มทุนใหญ่ๆ เพิ่มขึ้นอีกเช่นเดียวกัน

สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม คลังสินค้าให้เช่า และนิคมอุตสาหกรรม  มองว่าจะยังคงเป็นอีกดาวเด่นที่สำคัญของภาคอสังหาริมทรัพย์อีกหนึ่งประเภทในปี 2565ต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา  โดยเฉพาะคลังสินค้าให้เช่า ความต้องการคลังสินค้าคุณภาพสูงรวมถึงศูนย์กระจายสินค้าและโรงงานของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซและผู้ประกอบการในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี  2563  เป็นต้นมายังมีความต้องการอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง

“คาดการณ์ว่า ทิศทางธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานในปี 2565 จะยังสามารถเติบโตได้ดี ความสนใจเช่าพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จ (Built-to-Suit) และ Warehouse Farm ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการต่างชาติยังมีความสนใจจะลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่มาก บวกกับความต้องการในภาคการส่งออกสินค้าหลายกลุ่ม เช่น  ธุรกิจแปรรูปอาหาร ธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์”

ด้านตลาดพื้นที่ค้าปลีกในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้พัฒนารายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกยังคงมองหาโอกาสการพัฒนาและการขยายธุรกิจทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและพื้นที่โดยรอบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกที่เปิดบริการใหม่ในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากการปิดปรับปรุงพื้นที่ในช่วงก่อนหน้าและกลับมาเปิดตัวอีกครั้งหลังจากการปรับปรุงพื้นที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งในปี 2565 พบว่า จะมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบเปิดตัวใหม่ทั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองและริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นการพัฒนาของผู้พัฒนารายใหญ่ตลาด

แม้ว่าจะมีผู้เช่าบางรายที่ขอคืนพื้นที่เช่า แต่พบว่ามีผู้เช่ารายใหญ่ที่เป็นแบรนด์สินค้าของต่างประเทศทั้งที่ขายสินค้าอุปโภคและบริโภคยังคงมองหาพื้นที่เช่าเพิ่มเติมเพื่อการขยายสาขา ทั้งในส่วนของร้านอาหารชื่อดังหรือแม้กระทั่งแบรนด์เสื้อผ้า ซึ่งยังคงเห็นภาพของการเปิดสาขาหรือเปิดร้านของแบรนด์ต่างๆ เหล่านี้ต่อเนื่องในช่วง ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่เช่าที่เคยว่างลงมีผู้เช่ารายใหม่เข้ามาแทนที่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะยังคงอยู่ในภาวะที่น่ากังวล

จากปัจจัยบวกในเรื่องของการประกาศเปิดประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับตลาดพื้นที่ค้าปลีกในประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้งในปี 2565 แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญและมีผลต่อธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคตซึ่งเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทายให้ผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกต้องปรับตัว ผู้พัฒนารายใหญ่ยังคงใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับปรุงพื้นที่ให้ทันสมัยเพื่อสำหรับการรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคของชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกมีความจำเป็นต้องปรับการดำเนินธุรกิจใหม่ตั้งแต่ การปรับองค์กรให้อยู่รอด การปรับบิสสิเนสโมเดลใหม่เน้นความแตกต่าง การเข้ายุคดิจิทัลมุ่งสู่ออมนิ ชาแนล มีการทำตลาดแบบหลายช่องทางสอดรับพฤติกรรมลูกค้าที่หลากหลายในการใช้ช่องทางซื้อ แม้ขณะนี้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายมากขึ้น แต่ก็ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ผู้บริโภคยินดีใช้จ่ายในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น พร้อมทั้งมองหาประสบการณ์ที่จะช่วยเชื่อมต่อโลกเสมือนจริงกับโลกที่เป็นอยู่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

ที่มา: ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร  คอลลิเออร์ส  ประเทศไทย

ณ สิ้นไตรมาสที่ 4  ปี2564  พบว่า อุปทานสะสมพื้นที่ค้าปลีกโดยรวมในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบปรับตัวมาอยู่ที่ 9,121,521 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 184,502 ตารางเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 2.07 จากปีก่อนหน้า และพบว่ามีพื้นที่ค้าปลีกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าแล้วเสร็จในปี 2565 อีกประมาณ 174,124 ตารางเมตร และในปี 2566 อีกประมาณ 147,308 ตารางเมตร ซึ่งอุปทานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจาการรีโนเวทและปรับเพิ่มขนาดพื้นที่เช่าให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของกำลังซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้พัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยพยายามมองหาช่องทางในการปรับตัวเพื่อไม่ให้กระทบต่อยอดการขาย ซึ่งพบว่า ผู้พัฒนาแทบทุกรายพยายามเพิ่มช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปี2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีบางโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่บางโครงการมีการขายในรูปแบบออนไลน์ 100% โดยไม่มีการสร้างสำนักงานขายในพื้นที่ และเพิ่มช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ เช่น  กลยุทธ์การตลาดของการทำ DRIVE THRU เพื่อความเป็นส่วนตัวพิเศษของลูกค้าที่สามารถชมบ้านได้อย่างมั่นใจ ไร้กังวล ตามมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำโครงการจะอำนวยความสะดวกในรูปแบบ Social Distancing รวมถึงมีการขายผ่านเครือข่ายของเอเจนซี่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ที่ลดการสัมผัสและการรวมกลุ่ม

อย่างไรก็ตามถึงแม้หลายฝ่ายมองว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงขาลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย แต่พบว่า อสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยยังคงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติทั้งผู้ประกอบการที่เคยเข้ามาร่วมทุนและผู้ประกอบการรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการญี่ปุ่น ยังคงให้ความสนใจร่วมทุนหรือ Joint Venture กับผู้ประกอบการไทยทั้งในส่วนของตลาดคอนโดมิเนียม ตลาดแนวราบ อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งจะยังคงเห็นภาพของการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการญี่ปุ่นอย่างคึกคักในปี 2565

“หากพิจารณาจากมูลค่าการรวมทุนหรือ Joint Venture ณ สิ้นไตรมาสที่ 4/2564  ผู้ประกอบการญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดที่ประมาณร้อยละ 68.2 ด้วยมูลค่าการร่วมทุนรวมกว่า 400,000 ล้านบาท ตามมาด้วยผู้ประกอบการจากประเทศจีนและฮ่องกงด้วยสัดส่วนประมาณร้อยละ 25.5 และ 13.6 มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 200,000 ล้านบาท” นายภัทรชัย กล่าว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก ผู้คนตลอดจนภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตแบบวิถีปกติสู่ชีวิตวิถีใหม่แบบ “New Normal” มาจนถึง “Next Normal” และในปี 2565  ยุคที่ผู้คนต่างปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และต่างมองหาประสบการณ์แบบครบวงจร

 

“หากผู้ประกอบการไม่เตรียมพร้อมหรือปรับตัวเพื่อรับมือ การดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน มองว่านอกจากเทรนด์ในเรื่องของการจับมือกับพันธมิตรในการนำเงินดิจิทัลสกุลต่างๆ มาใช้ซื้อขายและโอนและการจ่ายค่าส่วนกลางแล้ว AI จะเข้ามามีส่วนร่วมกับชีวิตในยุคใหม่มากขึ้น หลายองค์กรนำเรื่อง AI เข้ามาใช้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดย AI จะ เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการคัดสรรวัสดุ กระบวนการก่อสร้าง งานบริการหลังการขาย และจะยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต”

 

สำหรับดีลการซื้อขายที่ดินราคาสูงในพื้นที่ใจกลางเมืองในปี 2565 มองว่า อาจมีเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่รอบใจกลางเมืองเนื่องจากราคาเสนอขายยังไม่สูงมากเหมือนในย่าน CBD ซึ่งผู้พัฒนาที่ซื้อไปยังสามารถนำที่ดินมาพัฒนาโครงการได้ด้วยระยะคืนทุนที่ไม่นานมากนัก แต่มองว่าดีลการซื้อขายโรงแรม หรือการเทกโอเวอร์โครงการหรือกิจการ จะเป็นภาพที่อาจจะเห็นมากขึ้นในปี 2565

นางสาวสมสกุล หลิมศุทธพรรณ
จับตาเทรนด์ “โลกเสมือน”ผ่านAI ช่วยส่งเสริมการขายแทนคนจริง
นางสาวสมสกุล หลิมศุทธพรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 2565 น่าจะกลับมาฟื้นตัวและการเปิดโครงการใหม่จะมีแนวโน้มดีขึ้น แม้จะยังมีการระบาดของโควิด-19  เนื่องจากมีการกระจายวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น และผู้ประกอบการพยายามปรับตัว หาช่องว่างในตลาด เปิดโครงการใหม่ที่เจาะตลาดผู้ซื้อทุกกลุ่ม คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2564  โดยโครงการที่ชะลอการเปิดตัวในช่วงก่อนหน้าจะเริ่มกลับมาเปิดในปี 2565  และคาดว่าการกระตุ้นยอดขายด้วยดีลและโปรโมชั่นต่างๆ จะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง แต่ความร้อนแรงอาจจะลดลง

ด้านกำลังซื้อในตลาดจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น แม้จะมีสายพันธุ์ใหม่ในขณะนี้ แต่ประชากรในวงกว้างเริ่มมีภูมิคุ้มกันจึงช่วยลดความรุนแรงลงได้ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ที่จะมาช่วยกระตุ้นดีมานด์นักลงทุนที่หายไปก่อนหน้านี้ และยังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด มีการเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลบวก ทำให้ผู้ซื้อต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาในปี 2565

ทั้งนี้จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้รูปแบบการขายเปลี่ยนไป ระบบ Online Media และ Digital Platform กลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานในด้านการขาย จากช่วงก่อนหน้าที่สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยเสริมหรือเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขาย เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด มีการเว้นระยะห่างทางสังคม รูปแบบการขายจึงเพิ่มสัดส่วนในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

อย่างไรก็ตามมองว่าช่องทางออนไลน์เป็นการให้ข้อมูลลูกค้าในเบื้องต้น แต่โดยธรรมชาติของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสินใจซื้อ การเข้าชมโครงการจริงยังเป็นสิ่งที่ลูกค้าโดยเฉพาะผู้ที่ซื้ออยู่อาศัยเอง ยังมีความต้องการในส่วนนี้อยู่ ดังนั้นในส่วนของการเข้าชมโครงการจริงก็ยังคงต้องมี แต่มีการจำกัดจำนวนการชมโครงการต่อรอบ หรือจัดแบบ Private Tour และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในระหว่างเข้าชม การสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า เช่น พนักงาน Vaccinated ซึ่งพลัสฯ เป็นบริษัทแรกๆ ที่พนักงานขายทุกคนได้รับวัคซีนครบ 100%

ในส่วนของบริษัทฯเอง มีการปรับกลยุทธ์การขายให้เข้ากับ New Normal มีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและช่องทางออนไลน์ช่วยสนับสนุนการขาย ทั้งด้านการติดต่อให้ข้อมูล พูดคุยกับลูกค้า โดยมี LINE Official Account ให้ข้อมูลตอบสนองลูกค้าได้ทันที, Electronic Direct Mail (EDM) ส่งอีเมลให้ข้อมูลตรงถึงลูกค้า รวมทั้งใช้ Social Media ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter, YouTube รวมถึง TikTok เพื่อโปรโมทงานขายโครงการอย่างต่อเนื่อง ด้านการสร้างประสบการณ์เสมือนจริง ให้ลูกค้ารู้สึกอยากซื้อแม้ไม่ได้เห็นของจริง ทดแทนการเข้ามาชมโครงการ ให้ลูกค้าได้รู้สึกเหมือนเดินทางมาดูด้วยตนเองในสถานที่จริง ทั้งการ Facetime / VDO Call โดยพนักงานขายนำชมห้องที่ลูกค้าสนใจได้แบบเรียลไทม์, VDO Walk Through พาชมเส้นทางในโครงการตั้งแต่จากบริเวณส่วนกลางจนมาถึงภายในห้อง,  Virtual Room Tour 360° ดูภายในส่วนพักอาศัยในห้องต่างๆ ได้เหมือนอยู่ในห้องจริงผ่านทางเว็บไซต์ ด้านการจัดกิจกรรมการขาย เช่น การ Live เปิดตัวโครงการ พาชมห้องตัวอย่างแทนการจัดงาน Event

นอกจากนี้ยังสร้าง Mindset ทีมขายให้มีความมุ่งมั่นและ Active ตลอดเวลา โดยยึดหลัก Customer Centric ความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ นำเสนอโครงการที่เหมาะสมกับลูกค้า ศึกษาความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ผ่านทีมขายที่ใกล้ชิดลูกค้าและทีมวิจัยที่มีการสำรวจตลาด ติดตามสถานการณ์ที่เกิดในสังคมที่อาจส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์  เพื่อทำความเข้าใจลูกค้าและปรับกลยุทธ์การขายให้ตอบโจทย์

อีกทั้งสร้างวัฒนธรรมทีมขาย ให้เป็นมากกว่านักขายแต่เป็นที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำลูกค้ารอบด้าน เพื่อช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าและปิดการขายได้สำเร็จ เช่น วางแผนทางการเงิน การเตรียมพร้อมยื่นขอสินเชื่อให้ผ่านการพิจารณา การจัดทำแพคเกจและเสนอยูนิตราคาที่เหมาะสมและตรงความต้องการ และดูแลจนถึงขั้นตอนหลังการขาย อำนวยความสะดวกและพร้อมให้ความช่วยเหลือหากเกิดปัญหา

ในส่วนธุรกิจตัวแทนบริหารงานขายและการตลาด (Sole Agent) มีการให้คำแนะนำผู้ประกอบการเรื่องการพัฒนาโครงการให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มโอกาสในการขายในสภาวะปัจจุบัน  เช่นการออกแบบ ฟังก์ชั่น สิ่งอำนวยความสะดวก รูปแบบห้อง ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เช่น พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ อาจมีตู้รับส่งของด้วยตนเอง 24 ชั่วโมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในปี 2565 คาดว่าจะยังคงมีภาพการร่วมทุนพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่เคยมีการร่วมทุนกันมาก่อนหน้านี้ ก็มีโอกาสที่จะร่วมทุนกันอีกในลักษณะแบบรายโครงการ  แม้ช่วงตลาดชะลอตัวอย่างในปี 2564 แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ยังมีการร่วมทุนกับกลุ่มทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงที่ผ่านมามีการเลื่อนเปิดโครงการร่วมทุนบางโครงการออกไปเนื่องจากสถานการณ์ตลาด และกลุ่มทุนชะลอการลงทุน โดยคาดว่าหากตลาดฟื้นกลับมาหรือสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายก็จะมีการร่วมทุนกันมากขึ้นในปี 2565  และโครงการร่วมทุนที่เคยเลื่อนจะกลับมาเปิดตัว เพราะไทยยังมีศักยภาพด้านการพัฒนาโครงการ ที่ดินและต้นทุนการพัฒนาโครงการยังไม่สูงมากหากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ และหากเทียบในเอเชีย ไทยก็ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวที่จะช่วยดึงดูดการเข้ามาอยู่อาศัยและซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้

ส่วนเรื่องเทรนด์การใช้เงินดิจิทัลมาซื้อขายและโอนอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเป็นกระแสต่อเนื่องไปยังปี 2565 แต่อย่างไรก็ตามคงขึ้นกับมาตรการการควบคุมและข้อจำกัดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ด้วยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งการซื้อขายและโอนด้วยเงินดิจิทัลนี้มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในแง่การอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางการซื้อขาย โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มนักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนใน Cryptocurrency ก็สามารถนำมาซื้อได้ทันที เพิ่มความหลากหลายของตัวเลือกช่องทางการซื้อขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์

มองว่าเทรนด์เกี่ยวกับโลกเสมือนเป็นสิ่งที่น่าติดตาม อย่าง Metaverse ก็เป็นคำที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งน่าจับตาว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ในตลาดอสังหาริมทรัพย์เองจะเข้าไปมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้แต่อาจใช้เวลาจึงจะเกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม แต่ที่ผ่านมาก็เริ่มมีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้คอนเซ็ปต์โลกเสมือนกันบ้างแล้ว เช่น Virtual Influencer อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)เสมือน โดยใช้ AI เทคโนโลยีเสมือน ไม่มีชีวิต มาส่งเสริมการขายในการเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ ไม่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนจริงๆ”    

อย่างไรก็ตามหากสามารถกลับมาเปิดประเทศได้อย่างปกติ คาดว่าดีมานด์ลูกค้าต่างชาติน่าจะเริ่มทยอยกลับมา เนื่องจากปัจจัยด้านราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของไทยที่อยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับในหลายประเทศ และไทยมีชื่อเสียงเรื่องบริการการแพทย์ น่าจะช่วยดึงกลุ่มนี้ได้

ส่วนดีลปิดขายที่ดินราคาสูงในย่านซีบีดีนั้น คาดว่ายังมีแนวโน้มที่จะมีดีลเกิดขึ้นเพราะยังมีความต้องการ ผู้ประกอบการทุกรายให้ความสำคัญกับการหาที่ดินศักยภาพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีเงินสด มีกำลังในการจ่าย คาดว่าจะมีการซื้อขายที่ดินในย่านซีบีดี ยังมีอีกในอนาคตเนื่องจากที่ดิน Freehold ในบริเวณนั้นมีจำกัด คิดว่าการซื้อขายที่ดินโซนนี้จะมีเมื่อตลาด Luxury Condo กลับมาคึกคักอีกครั้ง

นายสุรเชษฐ กองชีพ
แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อยังเป็นตัวแปรสำคัญจับตาเงินคริปโตฯอาจนำมาเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 และเรื่องของภาวะเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องต้นปี 2565 ซึ่งถ้าสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงไฮซีซั่นที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยไม่รุนแรง หรือสามารถรับมือได้ และมีต่างชาติเดินทางเข้ามาต่อเนื่อง ก็มีผลต่อความเชื่อมั่นของคนไทยที่จะใช้จ่ายมากขึ้น และมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่จะขยายตัวได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะยังไม่ได้แตกต่างกว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เท่าไหร่นัก อาจจะต้องรอให้ผ่านไตรมาสที่ 1/2565 ไปก่อน เมื่อเห็นว่าหลายปัจจัยปรับตัวดีขึ้นแล้ว ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะขยับตัวมากกว่าปี 2564 ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3/2564 ต่อเนื่องถึงช่วงปลายปีแล้ว เพราะคาดการณ์ว่าปี 2565 จะดีขึ้นกว่าปี 2564 แน่นอน เพียงแต่คงไม่ดีขึ้นมากมายนัก ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะมีการขยายตัวมากขึ้นอยู่ในช่วง 5-10% แต่ยังคงต้องรอหลังจากไตรมาสที่ 1 ผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่จะขยายตัวมากกว่าอัตรานี้

 

“ตัวแปรสำคัญยังคงอยู่ที่การขอสินเชื่อธนาคารซึ่งธนาคารต่างๆ เข้มงวดมากในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้ และถ้ารัฐบาลผลักดันตลาดอสังหาริมทรัพย์มากกว่าที่ผ่านมาก็เป็นไปได้ที่การขยายตัวของตลาดอสังหาฯ จะมากกว่าที่คาดการณ์”

ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้รูปแบบการขายเปลี่ยนไป ฝ่ายขายแต่ละโครงการจะพยายามติดต่อโดยตรงกับผู้ซื้อมากขึ้น ไม่โปรโมทหรือประชาสัมพันธ์กับสื่อมากมาย แต่เลือกสื่อที่จำเพาะเจาะจง อีกทั้งยังจำกัดงบประมาณในการใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งการติดตามลูกค้าเป็นรูปแบบการขายที่นำมาใช่ช่วงโควิด-19

ในส่วนของบริษัทฯมีการปรับตัวรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยการลดการส่งอีเมล ข้อความ ไลน์ หรือโทรศัพท์แบบรายวัน เป็นแบบรายสัปดาห์แทน และติดตามพฤติกรรมของผู้ที่บริษัทติดต่อไปแบบใกล้ชิดมากขึ้น อาจจะมีการติดต่อไปเพื่อถามความคิดเห็นหรือสอบถามถึงความต้องการ จากนั้นเก็บไว้เป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องติดตามสม่ำเสมอ รวมไปถึงพยายามส่งข้อมูลตรงไปหาลูกค้าให้ได้มากที่สุด ไม่ผ่านตัวกลางหรือตัวแทนนายหน้า หากเป็นไปได้ จะขอเข้าพบหรือประชุมผ่านออนไลน์กันในครั้งแรก

สำหรับทิศทางของการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการไทยและต่างชาติในปี 2565 จะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง เพียงแต่คงไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสร้างความฮือฮาหรือน่าสนใจมากกว่าที่ผ่านมาแล้ว อาจจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากประเทศจีนหรือญี่ปุ่นเข้ามาเปิดตัวว่ามีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาโครงการร่วมกัน แต่ยังคงต้องติดตามต่อไปในปี 2565

ส่วนผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่มีโครงการพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการไทยมาก่อนหน้านี้แล้วจะยังคงรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ต่อเนื่อง เพียงแต่ผู้ประกอบการบางรายอาจจะเลือกที่จะชะลอการลงทุนไว้ก่อน รอให้โครงการต่างๆ ที่ลงทุนร่วมกันปิดการขายและโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยเพื่อแบ่งผลประโยชน์ต่างๆก่อนจึงค่อยเดินหน้าต่อ แต่หากผู้ประกอบการการไทยรายใด ต้องการพันธมิตรเพิ่มเติมก็จะยังคงเดินหน้าหาผู้ประกอบการต่างชาติเช่นเดิม อีกทั้งไม่ได้ยึดติดว่าต้องร่วมทุนกับผู้ประกอบการต่างชาติรายใดรายหนึ่งเท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นผู้ประกอบการไทยบางรายที่มีพันธมิตรเป็นผู้ประกอบการต่างชาติหลายราย และผู้ประกอบการต่างชาติบางรายมีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทยมากกว่า 1 รายก็มีเช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์ใหม่ๆทางการตลาดในช่วงวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดในระยะ1- 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่านำออกมาใช้กันหมดแล้ว  ส่วนเรื่องของการรับเงิน Cryptocurrency สกุลหลักมาใช้ซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียมได้นั้น ยังคงต้องติดตามผลที่มีการซื้อขายจริงๆ เกิดขึ้นต่อไป ปัจจุบันอาจจะเป็นเพียงกลยุทธ์ของผุ้ประกอบการในการขยายกลุ่มลูกค้าออกไปให้ครอบคลุมคนที่ถือ Cryptocurrency ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่ยังแทบไม่เห็นการซื้อขายด้วย Cryptocurrency เกิดขึ้นแบบจริงจังในช่วงที่ผ่านมา ต้องรอดูปี 2565 ที่มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นช่วงขาลงหรือช่วงการชะลอตัวของตลาด Cryptocurrency ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร อาจจะมีคนนำ Cryptocurrency มาเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อลดความเสี่ยงก็เป็นไปได้

ด้านลูกค้าต่างชาติในตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศไทยยังคงต้องรอความหวังจากกลุ่มผู้ซื้อชาวจีนมากกว่าชาติอื่นๆ เพราะจากสถิติทั้งหลายนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่ากลุ่มลูกค้าหลักคือ คนจีน ชาวต่างชาติสัญชาติอื่นๆ นั้นไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ซื้อชาวจีน ดังนั้น ถ้าช่วงกลางปี 2565 ยังไม่มีสัญญาณเปิดประเทศจากรัฐบาลจีน ก็เป็นไปได้ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะยังคงขาดแคลนกำลังซื้อต่างชาติต่อไป ผู้ซื้อชาติอื่นๆ ก็เช่นกันที่ยังคงมีน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 เพราะติดขัดเรื่องของการเดินทาง ยังคงเป็นอีกปีที่คาดหวังเรื่องของกำลังซื้อต่างชาติไม่ได้มากนัก อาจจะมีชาวต่างชาติกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยหรือมีธุรกิจ ทำงาน เข้ามาใช้ชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมา อาจจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เพราะเห็นว่าประเทศไทยยังคงน่าอยู่ และปลอดภัยในสายตาพวกเขาที่ผ่านช่วงเวลาเลวร้ายของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมาแล้ว

สำหรับดีลการซื้อขายที่ดินในย่านซีบีดีนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการมั่นใจว่ากำลังซื้อที่อยู่อาศัยราคาแพงยังคงมีอยู่หรือมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาในปี 2565 หรือหลังจากนั้นไม่นานก็อาจจะมีการซื้อขายที่ดินในทำเลใจกลางเมืองในราคาแพงๆ เกิดขึ้น เพราะที่ดินในทำเลใจกลางเมืองหาได้ยากมากขึ้นทุกปี อีกทั้งราคาที่ดินก็ไม่ได้ลดลงแบบที่มีผู้ประกอบการหลายรายต้องการ การซื้อขายที่ดินในราคาสูง จึงขึ้นอยู่กับความมั่นใจของผู้ประกอบการและความต้องการขายของผู้ขายเป็นสำคัญ

 

“รูปแบบของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ที่ดิน  บ้าน คอนโดมิเนียมไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ พวกเขาอาจจะไม่อยากครอบครองอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไป เพราะเป็นภาระใหญ่ในชีวิต การเช่าที่อยู่อาศัยอาจจะกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด สะดวกในการย้ายถิ่นที่อยู่ และเปลี่ยนทัศนคติของตนเองว่าไม่ใช่พลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกแล้ว แต่เป็นพลเมืองของโลกเพียงแต่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น เพราะโลกเชื่อมต่อกันในหลายมิติมากกว่าปัจจุบัน”

ทั้งนี้ชีวิตการเรียน การทำงาน หรือสังคมอาจจะไม่ใช่แบบที่เป็นในปัจจุบัน และภาษาไม่ใช่ข้อจำกัดในการสื่อสารอีกต่อไป ซึ่งรูปแบบของโลกในอนาคตอาจจะยังคาดเดาไม่ได้จากปัจจุบัน เหมือนคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยคิดว่าโทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นทุกอย่างในชีวิตแบบในปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะเพียงพอสำหรับคนในอนาคตที่จำนวนไม่ได้มากกว่าปัจจุบัน แม้ว่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นแต่ก็ยังสามารถใช้ชีวิตในประเทศไทยด้วยที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ได้อยู่ ผู้ประกอบการหลายรายจึงเริ่มขยับออกจากธุรกิจเดิมๆ เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการที่จำนวนประชากรลดลงแล้ว รวมไปถึงธุรกิจที่รองรับเรื่องของสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุซึ่งต้องเป็นธุรกิจที่รองรับประชากรโลกไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น

การที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการพยายามขยับปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการหรือสร้างสรรค์โครงการออกมาให้แตกต่างมากขึ้นนั้น เป็นทำเพื่อความอยู่รอดในช่วงนี้ การออกแบบบ้านที่มีความโดดเด่นมีรูปแบบเฉพาะ แล้วขายในราคาสูง ก็เป็น 1 ในทางรอดในช่วงนี้ รวมไปถึงการเปิดขายโครงการที่อยู่ในช่วงระหว่างราคา 3 – 5 ล้านบาทต่อยูนิตต่อไปแบบที่ผ่านมา เพราะเป็นกลุ่มของราคาที่มีกลุ่มผู้ซื้อมากที่สุดในตลาด และเชื่อว่าจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปเช่นเดิม ที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงแทบหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน หรือต้องออกจากกรุงเทพมหานครไปไกลๆ ซึ่งถ้าการทำงานไม่ต้องเดินทางเข้าสำนักงานก็เป็นไปได้ที่คนรุ่นใหม่จะสนใจซื้อบ้านในที่ไกลๆ  แต่ถ้ายังต้องเข้าสำนักงานแบบนี้ก็เป็นไปได้ยากที่จะหาคนที่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองชั้นในหรือไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าในอนาคตรูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไป การทำงานสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ บ้านในเมืองหรือไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องอีกต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*