มติคคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนโดยกำหนดประเภทวีซ่า สำหรับผู้พำนักระยะยาวไม่เกิน 10 ปี มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีหรือครม. (ผ่านระบบ Video Conference) ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ 18 หัวข้อ โดยมีหัวข้อที่ 2 ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ รื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1.อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย(มท.) เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
2.มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ

ทั้งนี้ มท. เสนอว่า

1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รัฐบาลจึงกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวมีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย อันจะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่องให้แก่ประชาชนและแรงงาน ส่งผลให้เกิดการลงทุนมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการพำนักระยะยาว ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 กันยายน 2564 และ 7 ธันวาคม 2564) เห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวเกี่ยวกับการกำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (long – term resident visa : LTR Visa) แล้ว

2.เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายรัฐบาลและมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย มท. จึงได้เสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย

1.กำหนดประเภทการตรวจลงตรา สำหรับผู้พำนักระยะยาวขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว (long – term resident visa : LTR Visa) โดยมีอายุการตรวจลงตรา 10 ปี

2.กำหนดคุณสมบัติของคนต่างด้าว ที่ได้รับสิทธิการตรวจลงตราประเภท LTR รวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าว (คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปี จำนวนไม่เกิน 4 คน) 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

2.1 กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen)

2.2 กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner)

2.3 กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work – from – Thailand professional)

2.4 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (High – skilled professional)

ทั้งนี้ คุณสมบัติของคนต่างด้าวดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ สกท. ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

3.การยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติและการยื่นขอรับการตรวจลงตราโดยคนต่างด้าวตามข้อ 2. จะต้องยื่นคำขอหนังสือรับรองคุณสมบัติพร้อมหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ หรือช่องทางอื่นตามที่ สกท. กำหนด
เมื่อคนต่างด้าวได้รับการรับรองคุณสมบัติเป็นหนังสือแล้วให้ยื่นคำขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภท LTR จากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ หรือ สตม. โดยให้มีอายุการตรวจลงตรา 10 ปี และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้คราวแรกไม่เกิน 5 ปี สำหรับใช้ได้หลายครั้ง และเมื่อครบระยะเวลาอนุญาต ให้ขยายระยะเวลาขออยู่ต่อได้อีกคราวละไม่เกิน 5 ปี     รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ปี โดยคนต่างด้าวและผู้ติดตามจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราปีละ 10,000 บาท ทั้งนี้ การตรวจลงตราให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขตามที่ กต. และ สตม. กำหนด

4.การแจ้งที่พัก คนต่างด้าวและผู้ติดตามจะต้องแจ้งข้อมูลที่พักต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเมื่อพำนักในราชอาณาจักรทุก 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต

5.การอนุญาตให้ทำงาน เมื่อคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

6.การขอเปลี่ยนประเภทวีซ่า หากคนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งได้รับวีซ่า LTR มีความประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่นให้สามารถกระทำได้ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ สตม. กำหนด

7.การเพิกถอนวีซ่า คนต่างด้าวจะถูกเพิกถอนวีซ่า LTR เมื่อไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ และคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ กำหนดให้ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*