จากที่มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีทิศทางฟื้นตัว โดยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 4.5-5.0% ในปี 2564 และ 5.0-5.5% ในปี 2565-2566 ปัจจัยขับเคลื่อนมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งนั่นเป็นการฉายภาพรวมของบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เน้นผูกขาดกับโครงการของภาครัฐ ขณะที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายกลางจะหันไปเน้นการเข้าประมูลงานจากภาคเอกชน ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงแรม โรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2565 ผู้ประกอบการจะมีการก่อสร้างและเปิดตัวโครงการใหม่กันมากขึ้น หากโควิด-19 คลี่คลาย แต่ปัญหาที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างหนักใจมาโดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาคือ การขาดแคลนแรงงานก่อสร้างและแรงงานฝีมือ ที่บางส่วนหนีกลับประเทศบ้านเกิด และยังบางส่วนยังไม่กลับมา ส่งผลให้เกิดการแย่งซื้อตัวแรงงานฝีมือกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการับเหมาก่อสร้างต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีในการก่อสร้างมาใช้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงานให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน
นายวิโรจน์ เจริญตรา 
หวั่นโควิด-19ยังเป็นสิ่งท้าทายปี65 คาดธุรกิจฟื้นตัวจริงปี’66
นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ PREB เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปี 2565 ว่า มีสัญญาณการฟื้นตัวโดยมีงานประมูลเข้ามาตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการโครงการต้องทำการประมูลก่อน เพื่อที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามารถหาแรงงานมาช่วยงานก่อสร้างได้เพียงพอ  เพราะปัญหาใหญ่ของรับเหมาก่อสร้างในช่วงวิกฤติโควิด-19  ที่ผ่านมา คือการขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานที่กลับไปยังประเทศตนเอง ยังไม่สามารถกลับมาไม่เท่าเดิม มีสัดส่วนเพียง 15% จาก 30% ที่หายไป รวมถึงการแย่งซื้อตัวแรงงานฝีมือกันมากอีกด้วยผู้รับเหมาฯจึงต้องหาเวลาหาแรงงานดีงกล่าว

อย่างไรก็ตามในปี 2565 เชื่อว่างานรับเหมาก่อสร้างจะกลับเข้ามาเท่ากับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19  โดยในปี 2564 สามารถประมูลงานมาได้แล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยจะเป็นงานจากภาคเอกชนทั้งหมด แบ่งเป็นงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ และซูเปอร์ไฮเอนด์ สัดส่วนประมาณ 40% ซึ่งลดไปลงไปกว่า 50% เมื่อเทียบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะภาพรวมตลาดคอนโดฯยังโอเวอร์ซัพพลายอยู่ โครงการใหม่ยังเปิดตัวใหม่น้อยลง ขณะที่ซัพพลายเก่ายังไม่สามารถระบายสต๊อกออกได้หมด แต่ผู้ประกอบการหลายรายที่มีที่ดินรองรับไว้แล้วก็ต้องรีบเปิดตัวโครงการใหม่เช่นกัน  ขณะเดียวกันก็จะยังไม่ซื้อที่ดินใหม่ โดยซัพพลายใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2565  ส่วนใหญ่จะเน้นรูปแบบของคอนโดฯโลว์ไรส์ สูง 8 ชั้น เพราะผู้ประกอบการต้องการขายเร็วและปิดตัวเร็ว เพื่อที่จะสามารถสร้างการรับรู้รายได้ได้เร็วเช่นกันสำหรับสัดส่วนที่เหลืออีก 60% จะเป็นงานก่อสร้าง อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล โรงแรม และศูนย์การค้า ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่กทม. และมีต่างจังหวัด เพียง 1 โครงการ คือ งานก่อสร้างโครงการของกลุ่ม “ลิปตพัลลภ”ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

ด้านเทรนด์การก่อสร้างในปี 2565 คงจะมีการใช้รูปแบบการก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น เพื่อลดการใช้แรงงานคนน้อยลง รวมไปถึงศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างด้วย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานไปอีกมาก

สำหรับปัจจัยลบในปี 2565 ที่หวั่นมากที่สุด คือ ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ปรับขึ้นมาที่ประมาณ 10% แล้ว ซึ่งเป็นปัญหาที่ประสบกันทั่วโลก เพราะกำลังผลิดยังไม่เต็มร้อย โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างจากจีนยังส่งออกไม่ถึง 50% และปัจจัยคือปัญหาแรงงาน ส่วนปัจจัยบวก ส่วนหนึ่งคือเรื่องมาตรการต่างๆของภาครัฐ ทำให้กำลังซื้อเริ่มกลับมา ประชากรเริ่มมีรายได้มากขึ้น

โครงการอสังหาฯเพื่อการขาย ที่พัฒนาเอง 100% จะมีการเปิดตัวใหม่ 3 โครงการ ในปี 2565  คือ พิมรานา ศรีนครินทร์ มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท,พิมนารา ธรรมศาสตร์รังสิต มูลค่า 700 ล้านบาท และ กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมที่ดินอีก 1 แปลง ในย่านบางกรวย จ.นนทบุรี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

นอกจากนี้ยังมีโครงการการร่วมทุนกับ 2 พันธมิตรเดิมอย่างต่อเนื่อง  คือ บริษัท รีโว เอสเตท จำกัด พัฒนาโครงการทาวน์เฮาส์ ย่านจตุโชติ และคอนโดฯโลว์ไรส์ 8 ชั้น ย่านทาวน์อินทาวน์ และการร่วมทุนกับกลุ่มพรีเมี่ยมเพลส  พัฒนาทาวน์เฮาส์ ย่านสะพานใหม่ โดยแต่ละโครงการมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท

ทั้งนี้คาดว่าในปี  2564 จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างประมาณ 75% และจากอสังหาฯเพื่อการขายสัดส่วน 25% ส่วนในปี 2565 คาดว่าจะมีการปรับสัดส่วนรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเหลือ 70% และธุรกิจอสังหาฯเพื่อการขายเพิ่มเป็น 30%

 

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดในปี 2565 คือโควิด-19 ต้องดูว่าจะคลี่คลายหรือไม่  ถ้าสามารถหายไปได้ และสามารถเปิดประเทศได้จริงทั้งหมด จะ Boost ได้จริงๆ เพราะมีดีมานด์ที่รออยู่ก็พร้อมที่จะซื้อที่อยุ่อาศัย และเกิดผลดีทำให้สต๊อกเก่าระบายได้หมด อีกทั้งหากชาวต่างประเทศสามารถเข้ามาได้ เศรษฐกิจจะบูมทันที และคาดว่าจะฟื้นตัวจริงๆได้ในปี 2566

นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล
เชื่อตลาดรับเหมาฯเริ่มฟื้นตัว แต่หวั่นปัญหาขาดแคลนซื้อตัวแรงงาน
นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างรอจังหวะที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะเตรียมที่ดินรองรับไว้ล่วงหน้าแล้ว และเชื่อว่าในปี 2565 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น หากโควิด-19 ส่งสัญญาณว่าดีขึ้น ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะเปิดตัวโครงการทันที กลุ่มรับเหมาก่อสร้างก็รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ยกเว้นจะมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆที่รุนแรงเกิดขึ้นอีก  ส่วนสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) นั้นแม้ว่าจะการติดเชื้อง่าย แต่คิดว่าไม่น่าจะรุนแรงถึงชีวิต และไม่กระทบต่อการพัฒนาโครงการมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างรับมือกับวิกฤติดังกล่าวกันได้เป็นอย่างดีแล้ว
ส่วนสถานการณ์ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้น เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องแรงงานก่อสร้าง ที่ยังขาดแคลน เพราะอย่างไรก็ยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในการก่อสร้าง ที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาในการแย่งซื้อตัวแรงงานบางประเภท เช่น งานระบบ  ทำให้ค่าแรงของแรงงานพุ่งสูงขึ้น บริษัทฯจึงมีการปรับกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้นเพื่อรับมือในการลดการใช้แรงงานคน ส่วนเทรนด์ใหม่ยังคงไม่เห็นมากนัก เพราะเป็นธุรกิจที่ Disrupted ช้าที่สุดแล้ว แต่ก็ต้องปรับตัวท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น

โดยในปี 2565 สัดส่วนการรับงานของบริษัทฯจะเน้นภาคเอกชนเป็นหลัก 100% เพราะที่ผ่านมาผู้รับเหมาก่อสร้างกับผู้ประกอบการอสังหาฯต่างเป็นพันธมิตรกันมากขึ้น จึงทำให้งานก่อสร้างลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยปกติจะมีงานรับเหมาก่อสร้างเข้ามาประมาณ 20 โครงการต่อปี  และคิดว่าในปี2565 จะมีการเติมเต็มงานใหม่เข้ามา โตจากปี 2564 ประมาณ 10% ที่มีมูลค่างานประมาณ 6,000 ล้านบาท(บวกลบ) ส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างโครงการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ในสัดส่วน 50:50 ซึ่งแบ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัย 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นโรงแรมและอาคารสำนักงาน  ปัจจุบันมี Backlog สะสมยาวถึงปี 2565-2566  คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท

“ความท้าทายของธุรกิจในปี 2565 คือการเอาตัวรอดจากวิกฤติ โดยเฉพาะโควิด-19 จากที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาเป็นอย่างมาก โดยที่ภาครัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยแต่อย่างใด ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงปิดแคมป์คนงาน และไซต์งานก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท อีกเรื่องคือการวางแผนการเงินที่แข็งแรง มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในบริษัทฯให้ได้มากที่สุด หากสะดุดเมื่อไหร่ก็ประสบปัญหาอย่างแน่นอน”

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*