CPANEL”เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast Concrete) ภายใต้ตราสินค้า “CPANEL” ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูง สร้างการเติบโตของรายได้ผ่านทั้งการซื้อซ้ำ และการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้กับบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง จากความนิยมใช้พรีคาสท์ที่สูงขึ้น และความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยทั้งบ้านแนวราบและอาคารสูงที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงทพ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด

ปัจจุบัน “CPANEL” มีโรงงานผลิต 1 โรงงานตั้งอยู่ที่ชลบุรี มีกำลังการผลิตประมาณ 720,000 ตร.ม./ปี โดยมีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดในภาคตะวันออก รวมทั้งกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาสัดส่วนรายได้หลัก 98.11% มาจากกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯ ขณะที่งานรับเหมาก่อสร้างได้หยุดชะงักลง เพราะผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด มหาชน (CPANEL) กล่าวว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีผลต่อธุรกิจอสังหาฯและงานก่อสร้างทั้งของภาครัฐและเอกชนค่อนข้างมาก ทำให้มีการชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมไปถึงต้องหยุดงานก่อสร้างโครงการไปหลายโครงการ ขณะที่กลุ่มผู้รับเหมาก็เริ่มขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างด้าว ทำให้ในปี 2563 ที่ผ่านมารายได้หลักของบริษัทประมาณ 98.11% มาจากผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ขณะที่รายได้จากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างลดลงเหลือ1.60% เท่านั้น

แต่ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา สัดส่วนรายได้จากกลุ่มผู้รับเหมาขยับเพิ่มขึ้นเป็น 12.94%ซึ่งสูงกว่าช่วงที่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันงานก่อสร้างต่างๆเริ่มกลับเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทในปี 2564 เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 35% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 220 ล้านบาท

ดังนั้นบริษัทได้ตั้งเป้าหมายผลประกอบการในปี 2565 จะต้องทำนิวไฮต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 25% ล่าสุดมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ (Backlog)แล้วกว่า 1,190 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 74% แนวสูง 16% ซึ่งจะทยอยรับรู้ภายใน 3 ปีนี้ นอกจากนี้ในช่วงไตรมาส 1นี้บริษัทอยู่ระหว่างรอสัญญางานกับลูกค้าโครงการแนวราบ 4 ราย และอาคารสูง 2 ราย มูลค่ารวมงานประมาณ 200 ล้านบาท

“ภาพรวมตลาดอสังหาฯมีสัญญาณที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว กำลังซื้อผู้บริโภคกลับมาในหลายพื้นที่ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการปลดล็อค LTV ส่งผลให้โครงการบ้านยังเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะระดับกลาง-บน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าของบริษัท ซึ่งในในปีนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้วางแผนการลงทุนโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะใช้ Precast Concrete มากขึ้น”

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้ จะมุ่งเน้นกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี (Technology Driven) เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยจะดำเนินการพัฒนาเครื่องจักรที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการออกแบบ ความรวดเร็ว ปริมาณ และคุณภาพ Precast Concrete เพื่อรองรับความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น รวมถึงลดความผิดพลาด ความสูญเสียในการผลิต Precast Concrete

โดยปัจจุบันกระบวนการผลิตที่นำระบบการผลิตเป็นแบบ Fully Automated ทำให้ระยะเวลาในการผลิตสั้นมาก ตั้งแต่ออกแบบจนถึงส่งมอบบ้านหลังแรกได้ภายในเวลาแค่ 15 วันและหลังถัดไปได้ประมาณ 7 วันนับจากวันที่ลูกค้ายืนยันแบบ

นอกจากนี้ ยังมีแผนนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการประสานงานกับลูกค้า การบริหารจัดการภายใน ลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่างๆ ส่งผลให้บริษัทมีความสามารถการทำกำไรมากขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*