แสนสิริ ประกาศพันธกิจเปิดตัวโครงการZero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผนึก SCB เตรียมออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท เปิดจองวันที่ 15 ก.พ.นี้ผ่าน SCB Easy App พร้อมปั้น “ราชบุรีโมเดล” จังหวัดต้นแบบ ให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปี

เศรษฐา ทวีสิน

นายเศรษฐา  ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์การยูนิเซฟ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กต่อเนื่อง โดยร่วมกันผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครอง ปกป้องสิทธิ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กมากกว่า 17 โครงการ ซึ่งเป็นตามแนวคิดการดำเนินธุรกิจของแสนสิริที่มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคม คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็ก รวมถึงเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือเด็กอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสิทธิเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ด้านสุขภาพ การศึกษา และกีฬา รวมทั้งการให้ความช่วยเหลืออย่างไร้พรมแดนต่อเด็กทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

ในปี 2565 นี้ บริษัทมีเป้าหมายในการสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ภายใต้วิสัยทัศน์และเป้าหมายเดียวกันที่จะ “สร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” ด้วยการประกาศพันธกิจในโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน”

โดยบริษัทเตรียมออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาทสำหรับใช้ในโครงการ Zero Dropout  มีอายุ 3 ปี ลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาท รับผลตอบแทนจากการลงทุน 3.20% ต่อปี โดยจ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ กำหนดเปิดจองซื้อ วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 8.30 น. ผ่าน SCB Easy App เท่านั้น เพื่อนำไปบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาภายใต้โครงการ Zero Dropout เพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” โดยเงิน 100 ล้านบาทจากการระดมทุนจะบริจาคให้ กสศ. ทั้งหมด เพื่อปั้น “ราชบุรีโมเดล” เป็นเมืองต้นแบบให้เด็กในจังหวัด.ราชบุรี หลุดจากระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปี

ส่วนเหตุผลที่เลือกเปิดตัวโครงการนำร่องที่จังหวัดราชบุรี เพราะมีเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ประมาณ 10,000 คน ซึ่งเหมาะสมกับจำนวนเงินระดมทุน 100 ล้านบาท รวมทั้งยังมีปัญหาที่หลากหลายด้านความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจากภูมิศาสตร์จังหวัดติดชายแดน ที่มีสภาพเป็นทั้งแบบชุมชนและเมือง รวมถึมกลุ่มแสนสิริไม่มีการพัฒนาโครงการและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีความโปร่งใส

นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบได้ผ่านบัญชี Escrow Account ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในชื่อ “บมจ.แสนสิริ เพื่อสนับสนุนโครงการร่วมกับ กสศ.” ซึ่ง กสศ. จะมีการจัดทำแผนรายปี และเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการ Zero Dropout ไม่เกินปีละ 3 ครั้ง

ทั้งนี้เป้าหมายของโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” คือการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาในด้านคุณภาพการศึกษาและความยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าให้เด็กต้องอยู่ในระบบการศึกษาในช่วงวัยภาคบังคับ (ป.1-ม.3) และเด็กที่ถึงเกณฑ์ ต้องพร้อมเข้าเรียน ป.1 ได้ 100% โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 นำร่องใน 3 อำเภอ ได้แก่ สวนผึ้ง จอมบึง และบ้านคา จากนั้นในปี 2566 จะขยายไปอีก 4 อำเภอ และในปี 2567 อีก 3 อำเภอ รวมทั้งสนับสนุนทุนทรัพย์ให้เด็กได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าระบบการศึกษา (อัตรา 4,000 บาทต่อคน) จากนั้นจึงส่งต่อสู่กลไกของจังหวัดสานต่อการทำงานในระดับพื้นที่ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การทำงานของ กสศ.จะเน้นเจาะกลุ่มเด็ก เยาวชนจากครัวเรือนยากลำบากร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ ผ่านการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถเป็น “คานงัด” และ “ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง” เชิงระบบ โดยใช้ข้อมูล งานวิจัย และกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นเครื่องมือสำคัญในการ  สร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

จากการสำรวจข้อมูลของกสศ. พบว่า สถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในปัจจุบัน มีตัวเลขนักเรียนยากจนทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาถึง 1.9 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก สังเกตได้จากรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดต่ำลงมากจาก 1,289 บาทช่วงก่อนโควิด-19 มาเป็น 1,094 บาทต่อครัวเรือนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกเทอมจาก 994,428 คนเมื่อปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,244,591 คนในภาคเรียนที่ 1 ปี 2564 และเมื่อลงลึกเรื่องตัวเลข ยังพบว่านักเรียนที่ไม่เรียนต่อ หรือ นักเรียนยากจนพิเศษหลุดจากการศึกษาสูงถึง 43,060 คนจาก 54,842 คน  โดยหลุดจากระบบการศึกษาสูงสุดในชั้น ม.3,ป.6 และชั้นอนุบาล ตามลำดับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*