ศูนย์ข้อมูลประเมินตลาดอสังหาฯกทม.-ปริมณฑลปี 2565 เปิดตัวโครงการพุ่ง 1 เท่าตัวจากปีก่อนหน้าที่มีการการเปิดตัวใหม่แค่ 46,602 ยูนิต ต่ำสุดในรอบ 11ปี ชี้ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง การผ่อนปรน LTV ของธปท ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีการทำโปรโมชั่นลดราคาขายและให้ของแถมต่างๆต่อเนื่อง

ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงทิศทางของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลปี 2565ว่า จะมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวหรือประมาณ 81,126 ยูนิต เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่แค่ 46,602 ยูนิต ซึ่งต่ำสุดในรอบ 11 ปีนับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯแต่จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ยังสูงถึง 82,595 ยูนิต

ส่วนจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่คาดว่าจะมีประมาณ 105,307 ยูนิต เพิ่มขึ้น 35.3% จากปี 2564 ขณะที่หน่วยโอนกรรมสิทธิ์จะอยู่ที่ 332,192 ยูนิตเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 25.1% คิดเป็นมูลค่า 909,864 ล้านบาท โดยเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์บ้านแนวราบจะเพิ่มขึ้นประมาณ 24.6%

ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 627,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 2.5%  และมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างจะอยู่ที่ 4,748,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 5.5%

ทั้งนี้ธุรกิจอสังหาฯในปี 2565 ยังคงต้องเผชิญทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ โดยในส่วนของปัจจัยบวกจะได้รับผลดีจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง การผ่อนปรน LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทั้งการซื้อบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 สำหรับอยู่อาศัยหรือเพื่อการลงทุนมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีการทำโปรโมชั่นลดราคาขายและให้ของแถมต่างๆต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยลบที่จะมีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างน้อย 0.50% การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งมีการแพร่ระบาดค่อนข้างรวดเร็ว รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ของ GDP การจ้างงานและรายได้ของประชาชนที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโครงการใหม่อาจจะมีการปรับราคาขึ้น

“REIC ประเมินภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้ จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 และจะเป็นการเปิดโครงการแนวราบในสัดส่วนที่มากกว่าอาคารชุด ขณะที่อาคารชุดจะค่อยๆ ฟื้นตัว เนื่องจากส๖อกสินค้าที่เหลือขายในตลาดเริ่มลดลง และราคาที่ดินที่แพงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างอาคารชุดเพื่อให้สอดคล้องกำลังซื้อที่เป็นคนไทยกลุ่ม Gen-Y และ Gen-Z ลงมา ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น”

ใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศปี’64 ต่ำสุดในรอบ 15ปี

สำหรับภาพรวมของอุปสงค์และอุปทานที่อยู่อาศัยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ดร.วิชัยกล่าวว่า มีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศจำนวน 66,835 ยูนิตลดลงจากปี 2563 ประมาณ 23.9% และต่ำสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 แต่ยังสูงกว่าปี 2549 ที่เกิดรัฐประหาร มีการออกใบอนุญาตจัดสรรแค่ 50,109 ยูนิต

โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในปี 2564 มีจำนวน 46,602 ยูนิต ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 29.6% มูลค่าเปิดตัวใหม่ 191,226 ล้านบาท ลดลง 42.8%

ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีจำนวน 265,493 ยูนิตลดลงจากปี 2563 ประมาณ 21.6%   ซึ่งต่ำสุดในรอบ 7 ปีนับตั้งแต่ปี 2558 ที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์  375,035 ยูนิต

ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน  8,198  ยูนิต ลดลง 1.1% ส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 39,610  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%  แต่ยังคงต่ำกว่าสัดส่วนค่าเฉลี่ย 2 ปี (2561-2562) ที่มีประมาณ 15.9% โดยผู้ซื้อชาวจีนมีการโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด จำนวน 4,867 ยูนิต คิดเป็น 59% ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติ คิดเป็นมูลค่า 22,874 ล้านบาท รองลงมาเป็นชาวรัสเซียจำนวน  306 ยูนิต สหราชอาณาจักรจำนวน 280 ยูนิต  มูลค่า 1,252 ล้าน

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*