“ซีบีอาร์อี”เผยตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตเริ่มฟื้นตัว แม้โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะไม่ได้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าเมืองภูเก็ตได้ตามที่คาดหวัง ชี้ตลาดวิลล่าตากอากาศความต้องการซื้อมีต่อเนื่อง ครึ่งหลังปี’64 ทำยอดขายได้ 81 ยูนิต ขณะที่ตลาดคอนโดฯเริ่มกลับมาขายได้อีกหลัง จับตามีคอนโดฯอีกกว่า 4,700 ยูนิตอยู่ระหว่างก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในปี 2566 

นางสาวประกายเพชร มีชูสาร หัวหน้าแผนกซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาอาจไม่ได้ผลเท่ากับที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ แม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564  จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังสนามบินภูเก็ตเพิ่มขึ้นเป็น 219,144 คน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจำนวน 4.4 ล้านคนที่เดินทางมาในช่วงหลังครึ่งของปี 2562  ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาพักอาศัยระยะยาวและความต้องการซื้อวิลล่าหรูจากลูกค้าคนไทยและชาวต่างชาติในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้จากข้อมูลของแผนกวิจัยซีบีอาร์อี พบว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ตลาดอพาร์ตเมนต์และคอนโดมิเนียมภูเก็ตมียอดขาย 115 ยูนิต เพิ่มขึ้น 113% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่มียอดขายเพียง 54 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้น 74.2% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2564 ที่มียอดขาย 66 ยูนิต  ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตไม่มีการเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่มานานสองปีติดต่อกันนับตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2562  โดยมี 1 โครงการที่มีจำนวนยูนิตใหม่สร้างเสร็จจำนวน 209 ยูนิต และมีอีกกว่า 4,700 ยูนิตอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกตอนกลางและชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้

ส่วนตลาดวิลล่าในเมืองภูเก็ตมีทั้งหมด 81 ยูนิตที่ปิดการขายได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2564 เพิ่มขึ้น 32.8% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และเพิ่มขึ้นถึง 125% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563   โดยเฉพาะไตรมาส 3 มีวิลล่าขายไปได้ 36 ยูนิต และไตรมาส 4 ขายได้ 45 ยูนิต  ส่งผลให้แนวโน้มของตลาดวิลล่าภูเก็ตในปี 2565 เป็นไปในทิศทางบวกมากกว่าปีก่อน ๆ

ด้านตลาดโรงแรมภูเก็ต พบว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มีห้องพักโรงแรมเพิ่มขึ้น 1,180 ห้องจากการเปิดโรงแรมใหม่ 9 แห่ง ส่งผลให้ปริมาณห้องพักทั้งหมดของโรงแรมบนเกาะภูเก็ตขยับเพิ่มขึ้นเป็น 43,000 ห้อง  และคาดว่าภายในปี 2567 ปริมาณห้องพักโรงแรมในภูเก็ตจะเพิ่มขึ้น 7.3% จากโรงแรมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าจำนวน 15 แห่ง รวมทั้งสิ้น 3,120 ห้อง

นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตลาดโรงแรมในภูเก็ตมีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น ความมั่นใจในการเดินทาง และนโยบายจากภาครัฐที่ส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศ รวมถึงการปรับนโยบายการเดินทางเข้าประเทศ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563   ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักโรงแรมในภูเก็ตกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อัตราการเข้าพักในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 60- 90% สำหรับโรงแรมที่แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ทำการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ แต่รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก หรือ RevPAR ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเจ้าของโรงแรมยังคงเสนอแพ็คเกจราคาพิเศษเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเข้าพัก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*