นับตั้งแต่มีการเปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสตั้งแต่เดือนธันวาคม 2542 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 22 ปี  ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการการเดินทางของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารเปลี่ยนจากการโดยสารยานพาหนะบนท้องถนนมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น  

จะเห็นได้จากส่วนแบ่งการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ โดยวัดจากจำนวนเที่ยวของการเดินทางต่อวันของแต่ละประเภทการเดินทางที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะมาลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เพราะมีการประกาศล็อคดาวน์ประเทศและเริ่มมีการทำงานแบบ Work form Home มากขึ้น แต่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็ได้คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2560 เป็น 33% ในปี 2585 จากเครือข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลครอบคลุมระยะทางรวม 211.94 กิโลเมตร จำนวน 11 เส้นทางเชื่อมต่อ 3 จังหวัดหลัก คือ สมุทรปราการ-กรุงเทพฯ-ปทุมธานี  โดยมีผู้ให้บริการทั้งหมด 3 ราย คือ บีทีเอสซี,บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BEM และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

แบ่งการดำเนินงานโดยบีทีเอสซี ระยะทางรวม 70.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก 23.5 กิโลเมตร จำนวน24 สถานี คือ สายสีเขียวเข้ม หมอชิต-อ่อนนุช กับสายสีเขียวอ่อน สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน และส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1 อ่อนนุช-แบริ่ง กับสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 12.75 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี และส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 แบริ่ง-เคหะฯ และหมอชิต-คูคต ระยะทาง 32 กิโลเมตร จำนวน 25 สถานี และรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 กรุงธนบุรี-คลองสาน ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี

ขณะที่กลุ่ม BEM เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน  ระยะทาง 48 กิโลเมตร จำนวน 38 สถานี ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม หัวลำโพง-บางซื่อ กับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ  กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี

ส่วน รฟท.เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง  28.5 กิโลเมตร จำนวน 8 สถานี และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร จำนวน 8 สถานี และรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี

และในช่วง 1-5 ปีข้างหน้า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเพิ่มอีก 5 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 112 กิโลเมตร โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2566 จะมีรถไฟฟ้า 2 สายเปิดให้บริการ คือ สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 35 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2565 สายสีเหลือง งานโยธามีความคืบหน้าไปแล้ว 92.48% ส่วนสายสีชมพูคืบหน้าไปแล้ว 88.16&

ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ โดยจะมีการทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมกับเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรีด้วย ก่อนจะเปิดให้บริการบางช่วงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตลอดเส้นทางทั้ง 2 สายได้ภายในช่วงกลางปี 2566

ส่วนอภิโปรเจ็กต์ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร แนวเส้นทางโครงการวิ่งผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด คือ  กรุงเทพฯ,สมุทรปราการ,ชลบุรี,ระยอง และฉะเชิงเทรา มีจำนวนสถานีให้บริการทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มลงมือก่อสร้าง ตามแผนจะเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2569 ล่าสุดขยายเวลาออกไปเป็นไป 2572 เพราะการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชนยังไม่ได้ข้อยุติ

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*