เจ้าของร่วมโครงการ THE MET แห่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง  คัดค้านการอนุมัติรายงาน EIA โครงการ “125 Sathorn”  เรียกร้องขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการอนุมัติรวดเร็วผิดปกติ ระบุศาลฯมีคำสั่งรับฟ้องและกำลังเดินเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา คาดใช้ระยะเวลา 4-5 ปี
น.ส. ชิดชนก เลิศธรรมพรไพศาล
น.ส. ชิดชนก เลิศธรรมพรไพศาล ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด THE MET เปิดเผยว่า เจ้าของร่วมโครงการ “เดอะ เม็ท” (THE MET) ได้รวมตัวกันแต่งตั้งทนายความเพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก. กทม.) ที่ได้อนุมัติการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ “125 Sathorn” ตลอดจนหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง โดยเจ้าของร่วมโครงการ THE MET มีคำถามเกี่ยวกับขนาดอาคารและพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตสำหรับการก่อสร้าง รวมทั้งได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการอนุมัติ EIA ด้วย

ทั้งนี้ “125 Sathorn” ตั้งอยู่บนที่ดิน 3 ไร่ ริมถนนสาทรใต้ เป็นโครงการอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ จำนวน 756 ยูนิต โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในระยะประชิดติดกับโครงการ “THE MET”  ที่ส่งผลให้บดบังบริเวณด้านหน้าของอาคาร THE MET ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่ามีความโดดเด่นในเรื่องการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่งดงาม  อีกทั้งการก่อสร้างอาคารใหม่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนที่มีอยู่เดิม และทำให้การจราจรในบริเวณถนนสาทรใต้ติดขัดยิ่งขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่โครงการอาคารสูงได้รับการอนุมัติ EIA ตามขั้นตอนของกฎหมายและได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว แต่ทว่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงทำให้ชุมชนเดิมที่อยู่มาก่อนมีความกังวลอย่างมาก และเริ่มการดำเนินคดีในชั้นศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการก่อสร้าง ซึ่งมีคดีจำนวนหนึ่งที่ผู้พัฒนาโครงการเริ่มการก่อสร้างไปแล้วในช่วงระยะเวลาที่ศาลกำลังดำเนินการพิจารณาซึ่งใช้เวลายาวนานนับปี ในที่สุดเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยที่ส่งผลในทางลบต่อผู้พัฒนา โครงการนั้นก็อาจดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วและต้องกลายเป็นอาคารทิ้งร้างไปโดยปริยายแต่ยังคงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภูมิทัศน์ของพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ

โครงการ 125 Sathorn
ทั้งนี้บ่อยครั้งที่รายงาน EIA ของโครงการใหม่ไม่ได้รับการอนุมัติในเบื้องต้น แต่ต่อมากลับได้รับการอนุมัติในที่สุด ส่งผลให้โครงการใหม่สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ทันที แม้ข้อกังวลของสาธารณชนในหลายประเด็นยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างเพียงพอ ในกรณีของ THE MET และ 125 Sathorn ก็เช่นเดียวกัน เจ้าของร่วมโครงการ THE MET ได้จัดทำรายงานคัดค้านการก่อสร้างโครงการ 125 Sathorn ยื่นต่อ คชก. กทม. เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยรายงานดังกล่าวมีข้อมูลผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกว่า 400 คนในชุมชนแวดล้อมโครงการใหม่รวมอยู่ด้วย มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าร้อยละ 60 แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการ “125 Sathorn” แต่โครงการ “125 Sathorn” กลับได้รับการอนุมัติรายงาน EIA ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน โดยข้อกังวลสำคัญหลายประการยังไม่ได้รับการแก้ไข เจ้าของร่วมโครงการ THE MET จึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาอนุมัติรายงาน EIA กล่าว

“ความโปร่งใสและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นประเด็นสำคัญ กฎหมายควรให้ความคุ้มครองแก่ทุกฝ่าย โดยระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล โครงการที่ถูกร้องเรียนควรหยุดการก่อสร้างจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับหลายโครงการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่แม้จะมีการฟ้องร้องคดีแต่การก่อสร้างยังได้รับอนุญาตให้ดำเนินต่อเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้พัฒนาโครงการ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลส่งผลในทางลบต่อผู้พัฒนาโครงการ ผู้ซื้อโครงการนั้นย่อมได้รับผลกระทบหนักกว่าเพราะอาจได้โอนสิทธิความเป็นเจ้าของและย้ายเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว อีกทั้งยังมีปัญหาอีกว่า คำสั่งศาลจะบังคับใช้ได้อย่างไรเมื่อโครงการที่ถูกประกาศว่าก่อสร้างผิดกฎหมายนั้นมีผู้อยู่อาศัยแล้ว และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อโครงการที่ได้เริ่มการก่อสร้างไปส่วนหนึ่งแล้วถูกทิ้งร้างและตัวโครงอาคารยังคงอยู่ต่อไปโดยไม่ได้ถูกรื้อถอน เราเชื่อว่าความไว้วางใจและความมั่นใจในการจัดการกระบวนการอนุมัติ EIA จะช่วยให้ประชาชนในชุมชนอยู่อาศัยเดิมรู้สึกว่าได้รับการปกป้อง”  น.ส.ชิดชนก กล่าว

การคัดค้านของเจ้าของร่วมโครงการ “THE MET” ต่อการอนุมัติรายงาน EIA โครงการ “125 Sathorn” ทำให้เกิดคำถามต่อการอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่โครงการอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครโดยที่ไม่มีการวางแผนการจัดบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เพียงพอซึ่งอันที่จริงควรเป็นงานส่วนหนึ่งของการวางผังเมืองเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอยู่อาศัยในโครงการนั้นสามารถหาซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคหรือบริการต่าง ๆ ได้โดยง่าย ไม่จำเป็นต้องขับรถออกไปหลายกิโลเมตรเพื่อไปตลาดสดหรือใช้บริการที่จำเป็น อันจะทำให้จราจรติดขัดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการจราจรบนสาทรซึ่งเป็นถนนที่ขึ้นชื่อเรื่องการจราจรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

โครงการ THE MET

ทั้งนี้เจ้าของร่วมโครงการ THE MET มั่นใจว่าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางจะได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรม แม้ศาลฯอาจจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาดดี 4-5 ปี  ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการ “125 Sathorn” ในปัจจุบันกำลังดำเนินการเปิดขายห้องชุดโครงการใหม่โดยไม่รอผลการตัดสินของคดี

อนึ่ง โครงการ 125 Sathorn” เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด(มหาชน) หรือ TTA ของกลุ่ม “นายประยุทธ มหากิจศิริ” ถือหุ้นสัดส่วน 60% กับ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (KRD)ถือหุ้นสัดส่วน 30% และบริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด (TCC)  ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้นสัดส่วน 10%  จัดตั้งบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(PMT) ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลงทุนร่วมกันในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับลักชัวรีในประเทศไทย โดยเริ่มจากโครงการ “125 สาทร” ตั้งอยู่ติดสถานทูตสิงคโปร์ บนพื้นที่ทั้งหมด 3.1 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่เหลือจากการที่กลุ่ม Pepple Bay จากประเทศสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาโครงการ “เดอะ เม็ท” (The Met) และได้ปล่อยที่ดินแปลงดังกล่าวให้รกร้างไว้ จนเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม “นายประยุทธ มหากิจศิริ” ได้เข้ามาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวข้างต้น ในรูปแบบของคอนโดฯ สูง 36 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ขนาดตั้งแต่ 28.5-330 ตารางเมตร ราคาเริ่มต้นที่ 5.9 ล้านบาทขึ้นไป โดยห้องเพ้นท์เฮาส์ยังไม่สามารถเปิดเผยราคาได้ คาดว่าจะสรุปได้ประมาณไตรมาส 3/2565 มีจำนวนทั้งหมด 755 ยูนิต มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท โดยได้เปิดให้ชมห้องตัวอย่างไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*