เฟรเซอร์สฯ จับมือ เอสซีจี และ คิวคอน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการนำอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างในโครงการ “วัน แบงค็อก” มารีไซเคิลผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงคิวคอน  ใช้ในบริเวณผนังทางลอดใต้อุโมงค์เข้าโครงการ ตอกย้ำเจตนารมณ์ในการลดของเสียจากการก่อสร้างให้เป็นศูนย์ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยสู่ความยั่งยืนในอนาคต
นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ผู้พัฒนาโครงการ “วัน แบงค็อก” เปิดเผยว่า ด้วยนโยบายหลักของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ที่จะปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2593 จึงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการ “วัน แบงค็อก”ห้เป็นต้นแบบของการกำหนดมาตรฐานใหม่ในด้านการออกแบบ คุณภาพ ความยั่งยืน และการใช้ชีวิตอย่างสมดุลในประเทศไทย ด้วยการคัดสรรพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ซึ่งต่างมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกันในการวางแนวปฏิบัติด้านการก่อสร้างที่ยั่งยืนภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ความร่วมมือกับเอสซีจี และคิวคอน ซึ่งต่างเป็นพันธมิตรอันยาวนานของเรา นับเป็นอีกบทพิสูจน์ของวิสัยทัศน์ดังกล่าว
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า  เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานขาดแคลน การจัดการเศษวัสดุที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเอสซีจีมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 โดยเอสซีจีมุ่งเน้นการหมุนเวียนทรัพยากรและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือ แนวทาง Turn Waste to Value เพื่อลดเศษวัสดุจากงานก่อสร้างโครงการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้ง โดยมีความร่วมมือที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในโครงการวัน แบงค็อก เช่น การนำเทคโนโลยีบดย่อยหัวเสาเข็มที่เหมาะกับการก่อสร้างกลับมาใช้ใหม่ ในรูปแบบการผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นต้น

“เอสซีจี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโครงการวัน แบงค็อก ที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกันในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การดำเนินอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ green construction  ต่อไปในอนาคต” นายนิธิ กล่าว

นายนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการรีไซเคิลในครั้งนี้ เริ่มต้นโดยนำอิฐมวลเบาที่เหลือใช้ มาเข้าเครื่องบดให้ออกมาเป็นเศษอิฐมวลเบา (Aggregate) และนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตแผ่นผนังกันเสียงคิวคอน (Q-CON Sound Barrier) เพื่อใช้ก่อสร้างผนังในบริเวณทางลอดใต้อุโมงค์ เข้าโครงการฯ  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของไทย ทั้งนี้ เมื่อคำนวณจากปริมาณอิฐมวลเบาที่ใช้ในโครงการ จำนวนทั้งหมดกว่า 1.6 ล้านก้อน น้ำหนักรวมกว่า 10,000 ตัน จะมีส่วนที่เหลือใช้จากการก่อสร้างในสัดส่วน 1.8 – 2% คิดเป็น 200 ตัน ที่สามารถนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ ทั้งในรูปแบบของวัสดุทดแทนทราย สารปรับปรุงคุณภาพน้ำ และนำมาใช้ในการผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงคิวคอนเพื่อใช้เป็นผนังทางลอดใต้อุโมงค์ พื้นที่รวมกว่า 1,850 ตารางเมตร

นายณรงค์เวทย์ วจนพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Q-CON (คิวคอน) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า คิวคอน เป็นบริษัทผู้ผลิตอิฐมวลเบาชั้นนำในประเทศไทยที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุด โดยการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิต  ผลิตภัณฑ์ของเราได้รับเครื่องหมายฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง และ ฉลากลดคาร์บอน รวมถึงเครื่องหมาย SCG Green Choice  เราภูมิใจที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการ “วัน แบง ค็อก” โดยการนำอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างในโครงการมารีไซเคิลและผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงคิวคอน (Q-CON Sound Barrier) ซึ่งติดตั้งได้ง่าย มีความเข็งแรง มีคุณสมบัติเด่นด้านดูดซับเสียงภายใน และประหยัดพลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของพวกเราทุกคน

อนึ่ง โครงการ “วัน แบงค็อก” คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และครบวงจรที่สุดตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่รวม 104 ไร่ หรือ 166,400   ตารางเมตร บนถนนวิทยุและถนนพระราม 4 โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว โครงการ “วัน แบงค็อก” จะประกอบไปด้วยอาคารสำนักงานแบบพรีเมียมเกรดเอ จำนวน 5 อาคาร พื้นที่รีเทล 4 โซน โรงแรมระดับลักชัวรี่และไลฟ์สไตล์ จำนวน 5 แห่ง และอาคารที่พักอาศัยระดับลักชัวรี่อีกจำนวน 3 อาคาร ซึ่งดำเนินงานภายใต้แนวคิดที่คำนึงถึงผู้คน ความยั่งยืน และการใช้ชีวิตแบบเมืองอัจฉริยะ โดยตั้งเป้าเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองทั้งมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับ Platinum สำหรับการพัฒนาชุมชนแวดล้อม  และมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร ซึ่งเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โครงการ “วัน แบงค็อก” พร้อมเปิดเฟสแรกในปี ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*