สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย  ประกาศแผนกระตุ้นใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 เพื่อทดแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิมทั้งหมด พร้อมขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกอีก 1,000,000 ตัน CO2 ให้สำเร็จในปี 2566 มุ่งสร้างอีโคซิสเต็มลดก๊าซเรือนกระจก นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยก้าวสู่ Net Zero 2050
นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA ประกาศความมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการยกระดับขีดดวามสามารถในการผลิตไปพร้อมกับการเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก สนองตอบนโยบาย Thailand Net Zero

อุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เกี่ยวเนื่องไปกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง คิดเป็นร้อยละ 7.7 ของ GDP ประเทศ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยดำเนินไปในทิศทางเดียวกับนโยบายพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความเจริญเติบโตของประเทศในด้านต่างๆ  อาทิ โครงการเมกะโปรเจกต์ ที่อยู่อาศัยโรงงานอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรมเป็นต้น สำหรับการใช้งานปูนซีเมนต์ ประมาณร้อยละ 89 เป็นปูนซีเมนต์สำหรับงานโครงสร้างและงานหล่อผลิตภัณฑ์คอนกรีต ประมาณร้อยละ 10 เป็นปูนซีเมนต์สำเร็จรูป และอีกร้อยละ 1 เป็นปูนซีเมนต์สำหรับงานพิเศษ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 30 – 35 ล้านตัน/ ปี คิดเป็นร้อยละ 50 – 60 ของกำลังการผลิตโดยรวมนายชนะ กล่าว

ทั้งนี้ TCMA ยังคงเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบัน 12 โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ของไทย ตั้งกระจายอยู่ตามภาคต่าง กำลังการผลิตรวม 60.15 ล้านตันต่อปี เพื่อสนองตอบความต้องการใช้งานทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นวาระสำคัญของโลก จึงนำไปสู่การร่วมกันจัดทำ Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 เพื่อให้ตลอดกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หนึ่งในสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อน ตัวอย่างที่ดำเนินการเช่น การวิจัยพัฒนาด้านวัสดุและนำเทคโนโลยีการบดปูนซีเมนต์เข้ามาใช้เกิดเป็น

ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก)’”และกระตุ้นให้มีการใช้งานแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิมโดยเร็ว หรือการนำวัสดุไม่ใช้แล้ว (Waste) จากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชนมาสู่กระบวนการแปรสภาพและใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เป็นต้น

โดย TCMA มีความมุ่งมั่นและผลักดันให้ใช้งานปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) เพื่อทดแทนการใช้ปูนซีเมนต์ชนิดเดิมทั้งหมดภายในปี 2566 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 ตัน CO2 โดยประสานการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) มอก. 2594 สามารถใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 ได้เป็นอย่างดี ทั้งงานโครงสร้างทั่วไป งานโครงสร้างขนาดใหญ่ งานพื้นทาง โดยสิ่งสำคัญ คือ ช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันในหลายประเทศมีการใช้ปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) อย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปมีสัดส่วนการใช้งานมากกว่าร้อยละ 75”นายชนะ กล่าว

นอกจากนี้ TCMA ทำงานร่วมกับ GCCA (Global Cement and Concrete Association) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านซีเมนต์และคอนกรีต ซึ่งเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยให้เป็นในทิศทางเดียวกับระดับโลก เพื่อการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยในปี 2593 พร้อมนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยเข้าร่วมงาน COP 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศอียิปต์

การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GCCA เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยไปสู่ระดับโลก เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมให้เกิดความแข็งแกร่งและยั่งยืน ร่วมกันสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ให้เกิดขึ้นนายชนะ กล่าวในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*