ศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ชี้สภาพภูมิอากาศและมลภาวะของเมืองต่างๆ   ทั่วโลกในอีก 28 ปีข้างหน้า อุณหภูมิจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ดันน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานมากกว่า 200 กว่าล้านคน และประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน จากการขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงภัยแล้งสุดขั้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะสูงขึ้น 8 เท่า ขณะที่ฝุ่น PM 2.5 จะสูงขึ้น 5 เท่าของในปัจจุบัน

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ กล่าวในงานเสวนา “MQDC Sustainnovation Forum 2022 เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤตอย่างไร” ถึงอนาคตและแนวโน้มการอยู่อาศัยในสังคมเมืองปี 2050 (พ.ศ.2598) หรืออีก 28 ปีข้างหน้าว่า โลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด โดยอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ส่งผลทำให้มีผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานมากถึง 200 กว่าล้านคน และมีผู้ที่ต้องประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน จากการขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงภัยแล้งสุดขั้ว รวมถึงประเทศไทยด้วย เพราะการเคลื่อนย้ายประชากรและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก และสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจะสูงขึ้น 8 เท่า ในขณะที่ฝุ่น PM 2.5 จะสูงขึ้น 5 เท่าของในปัจจุบัน

สำหรับเมืองกรุงเทพฯในอนาคตปี 2050 คาดการณ์ฉากทัศน์ออกมาเป็น 2 รูปแบบ คือ ฉากทัศน์เมืองในโดมฟอกอากาศขนาดยักษ์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่มของคนที่มีต้นทุนและโอกาสทางสังคมสูงเท่านั้น ขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่นอกโดม รวมทั้งต้องเผชิญกับกลุ่มหมอกควัน มลพิษ และวิกฤตน้ำท่วมอยู่เสมอ และฉากทัศน์การโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์ เพื่อแสวงหาพื้นที่ใหม่เพื่อดำรงชีวิต

ดังนั้นหากมนุษย์ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ต้องร่วมมือกันปรับทิศทางอนาคตเมืองให้ดีขึ้น โดยการร่วมกันเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบาย การพัฒนาโครงการ และพฤติกรรมของผู้คนบนแนวคิด “Not Only Urbanscape But Also Humanscape”

ทั้งนี้จากแนวโน้มเมืองในอนาคตของไทยน่าจะเกิดวิกฤตที่สร้างความตื่นตระหนกและความเครียดต่อผู้คนสูงมาก และจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าในอนาคตประชากรบนโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองมากถึง 70%

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) มองว่า การแก้ไขต้องเริ่มต้นที่สร้างสังคมเมือง โดยอิงจากกรอบความคิดสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้นให้มีความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนของอนาคตที่จะมาถึง หรือ “Resilience Framework for Future Cities: กลยุทธ์การรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคต”  โดยเฟรมเวิร์คนี้ประกอบด้วย กลุ่มปัจจัยความไม่แน่นอนใน 3 ด้าน ได้แก่ Nature & Environment, Living & Infrastructure และ Society & Economy

โดยเฉพาะปัญหาด้านกลุ่มธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาเรื่องน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น ปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุบัติการณ์ไม่คาดฝัน ปัญหาสุขภาพ และการหยุดชะงักของบริการสาธารณูปโภค และกลุ่มสังคมและเศรษฐกิจ เช่น  วิกฤตเศรษฐกิจและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เหตุการณ์ความไม่สงบ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และประเด็นทางสังคม

เนื่องจากพื้นที่แต่ละแห่งในประเทศไทยมีความแตกต่างกัน จึงน่าจะประสบปัญหาต่างๆกันไป จึงต้องพิจารณาแยกรายพื้นที่และนำ Resilience Framework มาจับเพื่อตั้งรับและปรับตัวได้ตรงจุด เช่น การสร้าง Framework เฉพาะกลุ่มปัญหาเรื่องน้ำของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนักและน้ำท่วมจากแม่น้ำหนุนสูง และลดน้ำหนักด้านการป้องกันภัยแล้งลง เป็นต้น

ดังนั้น RISC จึงได้ดำเนินการวิจัยและบูรณาการหลายศาสตร์ เพื่อนำเสนอโซลูชันที่สร้างความอยู่ดีมีสุข ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ RISC 5 Research Hubs ได้แก่ Plants & Biodiversity: ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ,Air Quality: ศึกษาปัจจัยในการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคาร,Happiness Science: ศึกษาการทำงานของสมองเพื่อสร้างความสุขด้วยวิทยาศาสตร์,Materials & Resources: ศึกษาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาวะ และ Resilience: ศึกษาด้านความเสี่ยงและภัยพิบัติในสภาพแวดล้อมเพื่อวางแผนรับมือ

ด้านนายเกชา ธีระโกเมน ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัท EEC และประธานกรรมการ บริษัท ยูนิซัส กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด กล่าวว่า การทำงานด้านวิศวกรรมต้องคิดในทิศทางใหม่อย่างจริงจัง จากเดิมที่หน้าที่ของทีมวิศวกรในโครงการคือทำให้น้ำไหลไฟสว่างและแอร์เย็น แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต ทีมวิศวกรจะต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยเริ่มจากการออกแบบระบบของโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เช่น เดิมวิศวกรจะออกแบบระบบปรับอากาศเพื่อทำให้อาคารเย็น แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนเป็นออกแบบระบบให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเย็นสบายโดยใช้ระบบปรับอากาศให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย เพื่อเปลี่ยนจาก Heat Urban ให้กลายเป็น Cool Urban

ยกตัวอย่างโครงการที่สามารถใช้ระบบวิศวกรรมและนวัตกรรมการออกแบบแนวใหม่เพื่อสร้างเมืองในอุดมคติให้เป็นจริง คือ โครงการ The Forestias มีการออกแบบอาคารที่หายใจได้ (Breathable Building) โดยไม่ต้องใช้พลังงาน บวกกับการปลูกป่าในโครงการในอัตราส่วนถึง 50% เพื่อช่วยฟอกอากาศให้มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้โครงการสามารถลดความร้อนของพื้นที่ สร้างออกซิเจน เพิ่มการหมุนเวียนอากาศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ระบบ Zero Water Waste Model คือการนำน้ำเสียในโครงการมาบำบัดและ reuse กลับมาใช้ในโครงการ 100% โดยไม่ปล่อยออกสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ

นอกจากนี้โครงการยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งในโครงการและพื้นที่ใกล้เคียงได้อีกด้วย รวมถึงโซลูชั่นการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่ช่วยสร้างความรู้สึกสบายแก่ผู้อยู่อาศัยโดยไม่ต้องใช้พลังงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*