ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบกาพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ประจำไตรมาส 3 ปี 2565 มีความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เกือบทุกด้าน แต่ยังมีความกังวลด้านต้นทุนการพัฒนาโครงการที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ฉุดดัชนี

ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยค่าดัชนีฯไตรมาสนี้ปรับตัวสูงขึ้นเท่ากับ 51.8 เพิ่มขึ้นจาก 49.8 ในไตรมาสก่อนหน้า  และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีค่าดัชนี 47.1  สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส หลังจากปรับลดลงอย่างแรงในช่วงไตรมาส 1

โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของทั้งกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่ม Listed และ Non-listed Companies มีการปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 นี้เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนกลุ่ม Listed Companies มีระดับความเชื่อมั่นที่สูงและปรับตัวในระดับที่สูงกว่ากลุ่ม Non-listed Companies อย่างชัดเจน โดยมีค่าดัชนีปรับขึ้น 3.1 จุดจาก 54.9 เป็น 58.0 ขณะที่กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีฯ ปรับขึ้นเพียง 0.4 จุดจาก 42.2 เป็น 42.6 แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ต่อเนื่องกันมา 14 ไตรมาสแล้วหรือตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562

ทั้งนี้การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นฯ อาจมาจากภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการสนับสนุนเพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น นับเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ และทำให้ผู้ประกอบการเชื่อว่าน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดกำลังซื้อใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากภาคธุรกิจบริการที่ฟื้นตัวจากมาตรการดังกล่าว

อย่างไรก็ตามในไตรมาส 3 ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการ เช่น สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ และทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยผู้ประกอบการทั้งกลุ่ม Listed Companies และ Non-listed Companies มีความกังวลต่อต้นทุนประกอบการ ที่อยู่ในระดับเพียง 28.6

ส่วนผลการสำรวจภาพรวมระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลที่มีต่อการดำเนินธุรกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 1.3 จุด มาอยู่ที่ 57.9 จุด โดยมีความเชื่อมั่นสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ในเกือบทุกด้าน ยกเว้นเรื่องต้นทุนการประกอบการในการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลา 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 61.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 0.2 จุด แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในดำเนินธุรกิจที่อยู่อาศัยค่อนข้างดีและเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 52.1 ซึ่งกลับมาสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 และเพิ่มสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.1 ได้แสดงให้เห็นว่า กลุ่ม Non-listed Companies เริ่มมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้าเช่นกัน แต่ทั้งสองกลุ่มยังคงกังวลด้านต้นทุนการประกอบการอยู่ในระดับความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน และค่าโสหุ้ยในการประกอบธุรกิจที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*