ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ไตรมาส 3 ค่าดัชนีปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 (ปี 2558 – 2562) โดยค่าดัชนีเท่ากับ  368.8 จุด เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ที่ดินโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึง 55.7% ส่วนที่ดินทำลรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ราคาที่ดินขยายตัวเพิ่มขึ้น 9%  พื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรี และอำเภอบางบัวทอง ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์  เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมามีค่าดัชนีเท่ากับ  368.8 จุด เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  สะท้อนให้เห็นว่าราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนายังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 (ปี 2558 – 2562) โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.8% ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.1% จากไตรมาสก่อนหน้า จากปัจจัยความคืบหน้าด้านการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ และผู้ประกอบการเริ่มกลับมาประกาศแผนการพัฒนาโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ราคาที่ดินเปล่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้ประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตราโดยไม่ได้รับส่วนลด 90% เหมือนกับปี 2562 – 2563 ทำให้ผู้ประกอบการต้องซื้อที่ดินสะสมลดลง เพื่อควบคุมภาระภาษีที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการ รวมถึงในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการอสังหาฯได้ชะลอการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงในปี 2565 ยังได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้  ส่งผลให้อัตราขยายตัวของดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลยังไม่กลับมาใกล้เส้นค่าเฉลี่ย 5 ปี

สำหรับโซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด  5 อันดับแรก ยังอยู่ในย่านพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ ขณะที่ราคาที่ดินยังอยู่ในระดับไม่สูง ทำให้สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ ประกอบด้วย

-ที่ดินในโซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง มีอัตราการเปลี่ยนราคามากถึง 55.7%

-ที่ดินในโซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด มีอัตราการเปลี่ยนราคา 42.8%

– ที่ดินในโซนเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก มีอัตราการเปลี่ยนราคา 28.1%

-ที่ดินในโซนราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทอง มีอัตราการเปลี่ยนราคา 26.4%

อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ มีอัตราการเปลี่ยนราคา 11.6%

ส่วนราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่าน 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีแผนจะพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต ประกอบด้วย

-รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 9%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาที่ดินในอำเภอเมืองนนทบุรี และอำเภอบางบัวทองปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด

-รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้วกว่า 92.82% ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 5.8% โดยเฉพาะในเขตหลักสี่และเขตคันนายาว

-รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 5.2% โดยราคาที่ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นมากอยู่ในเขตจตุจักร บางนา พญาไท และพระโขนง

-รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปแล้วกว่า 96.79% ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 4.7% เขตบางพลี  ประเวศ และเมืองสมุทรปราการ ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด

-รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 4.4%ในพื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรี และเขตหลักสี่

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*