ตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และจำนวนผู้สูงวัยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตและปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ ส่งผลให้คนไทยเลือกครองตัวเป็นโสดมากขึ้น หรือแต่งงานแต่มีบุตรน้อยลง ซึ่งอัตราการเกิดที่ลดลงนี้สวนทางกับสัดส่วนผู้สูงอายุในไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เผยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ที่มีจำนวนผู้สูงอายุถึง 28% ของประชากรในประเทศ นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องจับตามอง 
จากการสำรวจข้อมูลของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) พบว่าหลายธุรกิจจึงหันมาให้ความสำคัญกับการเจาะตลาดผู้สูงอายุมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อสูง และมีความพร้อมทางการเงิน โดยเฉพาะในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ไทยผู้ประกอบการเริ่มหันมาเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงวัยที่มาพร้อมบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ผ่านการร่วมมือกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการทางการแพทย์หรือโปรแกรมดูแลสุขภาพไว้ในโครงการฯ

ส่องดีมานด์บ้านผู้สูงวัย มองหาพื้นที่สีเขียวเสริม Well-Being 

ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบว่าเมื่อผู้สูงอายุต้องตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย ปัจจัยภายในที่ให้ความสำคัญจะเน้นไปที่ความคุ้มค่ามาเป็นอันดับแรก โดยมากกว่าครึ่ง (51%) พิจารณาจากราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรเป็นหลัก รองลงมาคือขนาดที่อยู่อาศัย 48% และตามมาด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัย 45% ซึ่งจะต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัยและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในช่วงวัยเกษียณด้วย ขณะที่สองอันดับแรกของผู้บริโภคในช่วงวัยอื่น จะพิจารณาจากขนาดที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ตามมาด้วยราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตร 

ด้านปัจจัยภายนอกโครงการที่ผู้สูงอายุใช้พิจารณาเมื่อเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น 2 ใน 3 (66%) ให้ความสำคัญกับทำเลที่ตั้งโครงการมากที่สุด ตามมาด้วยสามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 55% และความปลอดภัยของทำเล 53% เนื่องจากผู้สูงอายุคำนึงถึงการใช้ชีวิตในระยะยาว จึงต้องการโครงการที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก รองรับการใช้ชีวิตประจำวันด้วยตนเองได้อย่างสบายใจและปลอดภัย  

เลือกห้องตกแต่งครบ ประหยัดเวลา พร้อมเข้าอยู่ เมื่อต้องเลือกซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ผู้สูงอายุเกือบครึ่ง (46%) จะเลือกโครงการที่ตกแต่งให้ครบแบบพร้อมเข้าอยู่ (Fully Furnished) มากที่สุด โดยมีเหตุผลสำคัญมาจาก ช่วยประหยัดเวลาในการตกแต่ง 76% และไม่ยุ่งยาก สามารถย้ายเข้าอยู่ได้ทันที 70% ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าผู้บริโภคช่วงวัยอื่น ขณะที่ผู้สูงอายุอีก 29% สนใจโครงการที่ไม่มีการตกแต่งใด และ 25% เลือกโครงการที่ตกแต่งห้องให้บางส่วน (Fully Fitted) โดยเหตุผลที่ผู้สูงอายุเลือกห้องที่ไม่มีการตกแต่ง หรือตกแต่งห้องให้บางส่วน เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 70% ชื่นชอบการตกแต่งห้องในสไตล์ของตัวเองมากกว่าและ 37% คิดว่าสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่ได้ดีกว่า 

บ้านที่ดีต้องใกล้ชิดธรรมชาติ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตที่บ้านเป็นหลัก จึงเห็นความสำคัญของบทบาทที่อยู่อาศัยในการเสริมสร้างสุขภาพกายควบคู่กับสุขภาพจิตที่ดี เมื่อพิจารณาคุณลักษณะภายในและบริเวณรอบบ้านที่จะช่วยให้มีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ดีขึ้น ผู้สูงอายุกว่า 2 ใน 3 (70%) ต้องการที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะและใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุดเนื่องจากการมีพื้นที่สีเขียวไว้พักผ่อนหย่อนใจนั้นจะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดี และมีผลทางจิตวิทยาทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น รวมทั้งต้องการพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้นภายในละแวกบ้าน 68% ตามมาด้วยยูนิตที่มีระยะห่างมากขึ้น 64% เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและต้องการความสงบ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังเข้าใจและให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยที่มาพร้อมแนวคิดรักษ์โลก เกือบ 2 ใน 3 (65%) คาดหวังว่าโครงการที่พัฒนาใหม่ทั้งหมดควรจะมาพร้อมกับหลังคาโซล่าเซลล์ (Solar Rooftop) เพื่อช่วยประหยัดรายจ่ายและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือก

รีโนเวทห้องนั่งเล่นรองรับการใช้ชีวิต พื้นที่ภายในที่อยู่อาศัยที่ผู้สูงอายุต้องการปรับปรุงเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น อันดับแรกคือห้องนั่งเล่น 66% รองลงมาคือห้องนอน 59% ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลาในการทำกิจกรรมประจำวันมากที่สุด จึงเห็นความสำคัญในการปรับปรุงภายในห้องนั้นให้พร้อมรองรับการทำกิจกรรมต่าง ขณะที่อันดับสามคือห้องน้ำ 38% เนื่องจากถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกเมื่อผู้สูงอายุต้องใช้งาน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด 

ทำความรู้จัก “Reverse Mortgage” ทางเลือกสินเชื่อที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัย 

สำหรับ “Reverse Mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” ทางเลือกน่าสนใจที่ช่วยให้ผู้สูงวัยมีโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาการเงินในวัยเกษียณได้โดยไม่เป็นภาระของลูกหลาน

1.Reverse Mortgage น่าสนใจอย่างไร 

Reverse Mortgage หรือการจำนองแบบย้อนกลับ มีความแตกต่างกับการจำนองทั่วไปอย่างชัดเจน หลักการทำงานจะมีรูปแบบเหมือนการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร โดยจะเป็นรูปแบบการจำนองที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้สูงอายุที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแต่ไม่ต้องการขาย เนื่องจากต้องใช้อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิต และต้องการรายได้เป็นแบบรายเดือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สามารถนำบ้าน/คอนโดฯ ไปจำนองกับธนาคาร แล้วให้ธนาคารจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือนแทน 

2.หลักการทำงานของ Reverse Mortgage 

ผู้สูงอายุสัญชาติไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 ปี สามารถนำบ้าน/คอนโดฯ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์อยู่มาจำนองไว้กับธนาคาร จากนั้นธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้และทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้ผู้กู้เป็นรายเดือน โดยที่ผู้กู้ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นและสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว บ้าน/คอนโดฯ นั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ซึ่งธนาคารสามารถนำไปขายทอดตลาดได้ 

            –ในกรณีที่ครบกำหนดสัญญาแล้วผู้กู้ยังมีชีวิตอยู่ จะสามารถยื่นเอกสารเพื่อกู้เพิ่มเติมได้ตามเงื่อนไขของธนาคาร หรือนำเงินมาไถ่บ้าน/คอนโดฯ คืนได้ 

            –ส่วนกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตก่อนและทายาทไม่มาไถ่ถอนอสังหาฯ นั้นคืน ธนาคารจะนำไปขายทอดตลาด โดยหากขายอสังหาฯ นั้นได้ราคาสูงกว่ายอดหนี้ ธนาคารจะคืนส่วนต่างดังกล่าวให้กับทายาทต่อไป

ทั้งนี้ Reverse Mortgage ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจและเหมาะกับสังคมผู้สูงวัยของไทยในปัจจุบัน นอกจากจะตอบโจทย์ความต้องการมีบ้านของผู้สูงอายุเพื่อพักอาศัยในบั้นปลายชีวิตแล้ว ยังช่วยลดความกังวลในเรื่องค่าครองชีพได้อีกด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*