คีรี กาญจนพาสน์ ซีอีโอรถไฟฟ้าบีทีเสโต้เดือดไม่เคยฮั้วประมูลหลังถูก ป.ป.ช.กล่าวหาว่าทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมด 3 เส้นทางร่วมกับกรุงเทพธนาคม พร้อมเดินหน้าชนพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองและบริษัท

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.เรื่องการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง , สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585 ได้ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของบริษัทเป็นอย่างมาก และมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 13 ราย ทั้งในส่วนของบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

 “จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนว่า ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวก 13 คน ซึ่งปรากฏชื่อผมและบริษัทในความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบและความผิดฮั้วประมูล โดยในเนื้อข่าวมีการนำเสนอภาพเอกสารราชการของ ป.ป.ช.และอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวระดับสูงของ ป.ป.ช. วันนี้ผมขอใช้พื้นที่สื่อแถลงข้อเท็จจริงและทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่าเรื่องราวดังกล่าว การดำเนินคดีในเรื่องนี้ของ ป.ป.ช.ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จากการที่ ส.ส.ท่านหนึ่งได้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและ ป.ป.ช. กล่าวหากรณีที่ กทม.ทำสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายส่วนที่ 1”

โดยเบื้องต้นกล่าวหาว่า กทม.ไม่มีอำนาจดำเนินการ เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษในเวลานั้นได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้น และมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องตนและบริษัท เพราะจากพยานหลักฐานไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับผม และบริษัทเลย และพนักงานอัยการก็มีความเห็นไม่สั่งฟ้องไปแล้ว

ส่วนคดีที่อยู่กับ ป.ป.ช. ตนไม่ทราบเรื่อง เพราะไม่เคยแจ้งหรือเรียกไปให้ข้อมูล จนกระทั่งในช่วงเวลาที่ตนได้แสดงตัวต่อสู้เรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ได้รับทราบข้อมูลจากนายสุรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทว่า ป.ป.ช. ได้มีหนังสือเชิญไปให้ข้อมูลเรื่องหุ้นของบีทีเอสที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่มีการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถ ซึ่งเรื่องนี้ได้ชี้แจงกับ ป.ป.ช. แล้วว่า ราคาที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากบริษัทได้มีการรวมหุ้น

“เรื่องนี้มีความพยายามที่จะดึงเราเข้าไปร่วมถูกดำเนินคดีด้วย แต่การดำเนินการของ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้ มีหลายเรื่องที่สร้างความสงสัย เพราะบริษัทและผมเป็นนักลงทุน เป็นเอกชนที่รับจ้างทำงานบริการสาธารณะแทนรัฐบาล เราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจหน้าที่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่วันนี้เราถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่ายกฎหมายอ่านตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้าย ต้องเรียนว่าเรายังไม่ทราบเลยว่า เราไปร่วมกระทำความผิดกับใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และมีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่าเราไปกระทำความผิด”  

นอกจากนี้ยังพบว่าเรื่องนี้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนมาหลายปีแล้ว มีการสอบปากคำบุคคลและรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้ว และนำเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีความเห็นว่า ไม่มีความผิดเห็นควรให้ยุติเรื่อง แต่มีอำนาจบางอย่าง ไม่ต้องการให้เรื่องนี้จบ และต้องดึงบีทีเอสเข้าไปสู่ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา

 “มันมีขบวนการที่ต้องการให้บีทีเอสได้รับความเสียหายถึงขนาดให้ล้มละลายเลย เริ่มตั้งแต่การไม่จ่ายเงินค่าจ้างเดินรถ และค่าระบบให้บีทีเอสจำนวนกว่า 40,000 ล้านบาท จนบีทีเอสต้องฟ้องศาลบังคับให้ชำระหนี้และศาลปกครองกลางได้พิพากษาแล้วให้ชำระหนี้ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการชำระ และปล่อยให้พอกพูนหนี้มาเป็นจำนวนเกือบ 50,000 ล้านบาทแล้ว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และบีทีเอสยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด รวมทั้งมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย โดยบริษัทยินดีให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน และยืนยันว่าการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปราศจากการฮั้วประมูลใด ๆ

เนื่องจากก่อนการจ้างในครั้งนี้ ทางกทม.ได้มีการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2550  ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยโดยสรุปว่า การที่กรุงเทพมหานครมอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคมดำเนินโครงการ และว่าจ้างเอกชนเดินรถ โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน มิใช่การร่วมลงทุนกับเอกชน นอกจากนั้นการทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ผ่านการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในปี 2555 แล้ว โดยหลังสิ้นสุดการสอบสวนในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นควรไม่ฟ้องบีทีเอส

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*