ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีแนวโน้มดีขึ้น อีไอซี คาดทั้งปีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เติบโต 7% ขณะที่หน่วยโอนเติบโตเพียง 3% สะท้อนภาพราคาขายเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น การแข่งขันของตลาดรุนแรงหวังระบายสต็อกในมือที่มียอดสะสมกว่า 1.76 แสนยูนิต พบผู้บริโภคเกือบ 60% ที่ตอบแบบสำรวจสนใจซื้อบ้านมือสองประเภทโฮมออฟฟิศ และทาวน์เฮ้าส์ มากสุด

 

นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center :EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB ) เปิดเผยถึงภาพโดยรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพและปริมณฑลว่า เมื่อเทียบกับปีก่อน (ปี 2560)คาดในปี 2561 มีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นราว 7% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นจาก 1.63 แสนยูนิตเป็น 1.69 แสนยูนิตหรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นราว 3% ขณะที่ราคาต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยราคาบ้านเดี่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 ล้านบาท บ้านแฝดอยู่ที่ 4.6 ล้านบาท คอนโดมิเนียมอยู่ที่ 3.8 ล้านบาท และทาวน์เฮ้าสราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท

แม้ตลาดมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี แต่ผู้ประกอบการยังมีความท้าทายในการเร่งระบายสต็อกเหลือขายเพิ่มขึ้นอย่างตอ่เนื่อง  ณ สิ้นปี 2560 มียอดสะสมอยู่ที่ 1.76 แสนยูนิต และคาดว่าปี 2561 จะมีหน่วยที่เปิดขายใหม่ไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเร่งระบายสต็อก ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรงมากในปีนี้โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียมเนื่องจากมีหน่วยเหลือขายที่อยู่ในสัดส่วนที่สูงถึง 40 % จากยอดสะสมทั้งหมด

 

บ้านมือสองอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ : ทั้งนี้นอกจากตลาดบ้านใหม่ที่จะมีการแข่งขันกันรุนแรงแล้ว  ประกอบราคาขายก็ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ตลาดบ้านมือสองได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งจากผลสำรวจของอีไอซี พบว่า58% ของผู้ตอบแบบสำรวจสนใจซื้อบ้านมือสองประเภทโฮมออฟฟิศ และทาวน์เฮ้าส์ ได้รับความสนใจมากที่สุดในตลาดที่อยู่อาศัยมือสองคิดเป็นสัดส่วน 71% และ72% (ตามลำดับ) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทำเลที่ดีเริ่มหายาก ราคาที่ถูกกว่าโครงการใหม่ในทำเลเดียวกันโดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่อยู่อาศัยใหม่

ปี 2561ตลาดบ้านต่างจังหวัดมีทิศทางที่ดีขึ้น : สำหรับภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในหัวเมืองหลักต่างจังหวัด โดยเฉพาะ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต ระยอง ชลบุรี และเชียงใหม่นั้น คาดว่าปี 2561จะมีทิศทางที่ดีขึ้น มีหน่วยเหลือขายลดลง เนื่องจากปีแล้วผู้ประกอบการเร่งระบายหน่วยขายที่เหลืออยู่และเปิดขายหน่วยใหม่ลดลง ส่งผลให้หน่วยเหลือขายลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมีเนียม มีหน่วยขาย 2 หมื่นหน่วย มูลค่าหน่วยขาย 7.3 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วที่หน่วยขาย 2.6 หมื่นหน่วย มูลค่า 8.7 หมื่นล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม หากมองจำนวนหน่วยเหลือขายที่อยู่อาศัยแนวราบใน 6 จังหวัด ยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยมีจำนวนหน่วยขายอยู่ที่ 4.9 หมื่นหน่วย มูลค่าหน่วยขาย 1.6 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีจำนวนหน่วยขาย 4.9 หมื่นหน่วย มูลค่าหน่วยขาย 1.67 แสนล้านบาท

 

นายวิธาน ยังกล่าวด้วยว่า แม้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่มองว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากจะมีการปรับขึ้นจริงก็น่าจะอยู่ที่ 0.25% เป็นการปรับขึ้นช่วงปลายไตรมาส 4 ซึ่งก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค เพราะธนาคารพาณิชย์ต่างๆก็มีแข่งขันในเรื่องดอกเบี้ยเพื่อจูงใจให้ลูกค้ามายื่นขอสินเชื่อ ในขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดเหมือนเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้เสีย(NPL)เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 2-3%