ตลาดพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯปี 2566 เริ่มกลับมาคึกคักเมื่อเทียบกับ 2 – 3 ปีก่อนหน้า มีโครงการค้าปลีกเปิดใหม่ให้บริการมากขึ้น หลังจากหลายโครงการเลื่อนกำหนดเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่การเช่าพื้นที่ใหม่เริ่มมากขึ้น ลดลงตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

แม้ว่าโครงการพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯจะกลับมาคึกคักมากขึ้นตั้งแต่ปี 2565 แต่ก็ยังคงเห็นพื้นที่ว่างในหลายๆ โครงการของทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ ทั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่งในพื้นที่ใจกลางเมือง รวมไปถึงคอมมูนิตี้มอลล์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอกที่ยังมีพื้นที่ว่างให้เช่า ขณะที่การปรับปรุงพื้นที่เช่าภายในของศูนย์การค้าย่านใจกลางเมืองมีให้เห็นตลอดในช่วงปี.2563 – 2564 และในช่วงปี 2565 จึงเริ่มเห็นพื้นที่เช่าที่เคยว่างหลายพื้นที่ รวมไปถึงบางโครงการที่ปิดเพื่อปรับปรุงพื้นที่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ขณะที่ในปี 2566 มีหลายโครงการพื้นที่ค้าปลีกย่านใจกลางเมืองเริ่มกลับมาคึกคัก หลังจากที่กลุ่มชาวต่างชาติเริ่มทยอยกลับเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น

จากข้อมูลของบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 31,100 ตารางเมตรเปิดให้บริการใหม่ในกรุงเทพฯ ในจำนวนนี้กว่า 60% เป็นพื้นที่ของคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเปิดให้บริการอยู่ในพื้นที่เมืองชั้นในมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และเป็นโครงการที่สร้างขึ้นใหม่บนที่ดินของโครงการเดิม เช่น ถนนสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) ส่งผลให้พื้นที่ค้าปลีกสะสมในกรุงเทพฯ ณ ไตรมาส 1 มีอยู่ประมาณ 6.73 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับช่วงปี 2563 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้นน้อยมากในกรุงเทพฯ โดยมีพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่เพียง 208,100 ตารางเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้คาดว่าในปี 2566 จะมีพื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่ประมาณ 457,000 ตารางเมตร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ทั้งหมด แต่อาจจะมีเลื่อนไปเปิดให้บริการปี2567 บ้าง โดยเฉพาะโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีความล่าช้าในการก่อสร้างช่วงก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ค้าปลีกที่จะเปิดให้บริการใหม่ในปี 2566 จะมากกว่าพื้นที่รวมทั้งหมด 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามศูนย์การค้ายังครองความเป็นอันดับ 1 ในเรื่องของสัดส่วนของพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยมีสัดส่วนมากถึง 56% ของพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมด เนื่องจากศูนย์การค้า 1 โครงการมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ในขณะที่โครงการพื้นที่ค้าปลีกประเภทอื่นๆ จะมีพื้นที่รวมขนาดเล็กกว่า อีกทั้งอาจจะมีโครงการพื้นที่ค้าปลีกบางประเภทที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีพื้นที่รวมลดลง เพราะจะมีโครงการปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นว่ามีคอมมูนิตี้มอลล์ปิดให้บริการ รวมไปถึงไฮเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งที่อาจจะไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดินที่ใกล้จะครบสัญญาเช่า 30 ปีแล้ว

ขณะที่ผู้เช่าที่เป็นร้านอาหารหรือเชนร้านอาหารขนาดใหญ่เริ่มมองหาพื้นที่นอกโครงการพื้นที่ค้าปลีกมากขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา อีกทั้งผู้เช่าที่เป็นร้านค้าแฟชั่นก็เปิดให้บริการสาขาสแตนด์อโลนมากขึ้น รวมไปถึงมีการลดขนาดพื้นที่เช่าหรือเพิ่มช่องทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ของผู้เช่าที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศอาจจะแค่ช่วงเริ่มแรกของการเข้าสู่ตลาดในประเทศไทย

แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มของอัตราการเช่าพื้นที่ในโครงการพื้นที่ค้าปลีกในปี 2566 มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่อาจจะยังคงต้องรออีกไม่น้อยกว่า 1 ปีกว่าที่ตลาดจะกลับมาในระดับเดียวกับช่วงปี 2561 – 2562 ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการพื้นที่ค้าปลีก และทำเลที่ตั้งของโครงการด้วย

อัตราค่าเช่าเฉลี่ยพื้นที่ค้าปลีกปี’66 ขยับเพิ่มขึ้น 5-10%

สำหรับอัตราค่าเชาพื้นที่ค้าปลีก ณ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแตกต่างกันไปตามทำเล และประเภทของโครงการ แม้ว่าในโครงการเดียวกัน ประเภทของผู้เช่า และทำเลที่ตั้งในโครงการยังมีค่าเช่าที่แตกต่างกัน ทำให้ค่าเช่าพื้นที่ในโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ คอมมูนตี้มอลล์ หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตในทำเลเดียวกันก็มีอัตราค่าเช่าที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยพื้นที่ค้าปลีกที่มีขนาดเล็กจะมีอัตราค่าเช่าที่ต่ำกว่าโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นทั่วไปในตลาดพื้นที่ค้าปลีก เพราะโครงการขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการที่มากกว่า สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาใช้บริการได้มากกว่า รวมไปถึงการมีกิจกรรมภายในโครงการที่สร้างความน่าสนใจได้มากกว่าเช่นกัน ส่งผลให้แนวโน้มของค่าเช่าปี 2566 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ประมาณ  5 -10% แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทโครงการและทำเลด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*