ยังไม่มีข้อสรุปและทางออกให้กับลูกบ้านโครงการแอซตัน อโศก ซึ่งปัจจุบันมีลูกบ้านรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดไปแล้ว 580 ครอบครัว จำนวน 668 ยูนิตที่มีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนมากถึง 142 ราย  หลังจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีหนังสือเลขที่ ADC 050/2566 พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โดยให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างและดัดแปลงโครงการอาคารชุดที่ออกให้แก่โครงการแอชตัน อโศก เนื่องจาก รฟม.ไม่สามารถอนุญาตให้นำที่ดินของรฟม.ไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดิน ที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการได้ เพราะเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์การเวนคืนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วันนี้บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)  ได้มีหนังสือชี้แจงไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลคคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม.6 เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 และเลขที่129/2560 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าวนั้น

บริษัทได้รับผลกระทบเฉพาะในสัดส่วนที่ลงทุนไว้ในบริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุน (Joint Venture) ระหว่างบริษัทอนันดาฯกับซี อินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทมิตซุย ฟูโดซัง จำกัด (“บริษัทร่วมทุน”) ในสัดส่วนการถือหุ้น 51% และ 49% ตามลeดับ โดยบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ เป็นบริษัทผู้พัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก มูลค่าโครงการรวม 6,481 ล้านบาท และมีจำนวนยูนิตทั้งสิ้น 783 ยูนิต โดยมีจำนวนยูนิตที่โอนไปแล้ว 668 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,653 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% และปัจจุบันมีจำนวนยูนิตคงเหลือ 115 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 828 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13%

ทั้งนี้การดำเนินงานของบริษัทยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังมีความสามารถในการชำระหนี้ตามตราสารหนี้ และภาระผูกพันต่างๆ ที่มีผลผูกพันกับบริษัทได้ตามปกติ รวมทั้งยังสามารถดำเนินธุรกิจ และทำธุรกรรมกับคู่ค้า สถาบันการเงินต่างๆ ได้ตามปกติ

โดยบริษัทขอเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าว และแนวทางที่จะแก้ไขต่อไปโดยเร็ว ดังนี้

1.โครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) เป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาดังกล่าว นอกจากมีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือเจ้าของร่วมในโครงการแอชตัน อโศก แล้วยังส่งผลกระทบกับบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ ในฐานะผู้ประกอบการโครงการนี้ด้วย ในส่วนของบริษัทและบริษัทร่วมทุน ในฐานะผู้ลงทุน และผู้ถือหุ้นของบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ ก็ได้รับความเสียหายตามสัดส่วนที่บริษัทได้ลงทุนถือหุ้นในบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคณะกรรมการของบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ บริษัทและบริษัทร่วมทุนจึงได้ร่วมกันรวบรวมความเสียหาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อติดต่อเจรจากับส่วนงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร่งด่วน ส่วนมูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น อยู่ระหว่างการประเมินร่วมกับผู้สอบบัญชีของบริษัท และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน และเพื่อพิจารณาการตั้งสำรองในไตรมาส 2 นี้

2.แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างแต่ความเสียหายดังกล่าวยังสามารถแก้ไขได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ผู้แทนหน่วยงานของรัฐได้เสนอทางแก้ตามที่เป็นข่าวต่อสาธารณะไปแล้วว่า กรณีที่ศาลเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ ไม่จำเป็นต้องรื้อถอนอาคาร ซึ่งบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ กำลังพิจารณาหาแนวทางแก้ไขที่มีอยู่หลายแนวทาง โดยบริษัทฯ และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟฯ จะได้ขอเข้าพบกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงหัวหน้าหน่วยงานรัฐ ซึ่งถูกฟ้องในคดีเดียวกัน ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ภายใน 14 วันทำการ นับถัดจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เพื่อเจรจาหาทางแก้ไขกับหน่วยงานของรัฐต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาที่สั่งเพิกถอนอาคาร ว่าหน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะต้องดำ เนินการภายในวันไหน และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่นๆ  ทั้งนี้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการให้บริษัทด เนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

3.บริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ อยู่ระหว่างการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการอนุมัติ หรืออนุญาตให้กับโครงการแอชตัน อโศก เพื่อแก้ไขความเสียหายให้แก่ประชาชนผู้ซื้อห้องชุด หรือเจ้าของร่วม รวมถึงความเสียหายของบริษัทอนันดา เอ็มเอฟฯ ในฐานะผู้พัฒนาโครงการดังกล่าวด้วยความสุจริต และเป็นไปตามกฎหมายตามที่หน่วยงานของรัฐได้รับรองไว้หลายหน่วยงานมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

โดยการหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเป็นการดำเนินการควบคู่กับการพิจารณาแนวทางอื่นที่มีอยู่หลายแนวทางด้วยซึ่งบริษัทจะได้รายงานความคืบหน้าให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*