กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปี 2566 เศรษฐกิจได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี และเศรษฐกิจในระยะถัดไปมีแนวโน้มสมดุลขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก สำหรับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอกเป้าหมาย แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และราคาพลังงานโลกที่อาจปรับสูงขึ้นจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTB  เผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ตลอดปี 2567 จากเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2567 อยู่ที่ 2.0% หรืออยู่ที่ 2.2% หากรวม Digital Wallet สะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังเป็นระดับที่เหมาะสมที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก โดยในการประชุมครั้งที่ 6/2566 มีสาระสำคัญดังนี้

เศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2566 2567 และ 2568 ที่ 2.4% 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลเศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.8% (จากเดิม 4.4%) โดยเศรษฐกิจได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า สำหรับเศรษฐกิจในระยะถัดไปมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว

-อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมายในปี 2566 2567 และ 2568 ที่ 1.3% 2.0% และ 1.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ 2.2% (จากเดิม 2.6%) โดยอัตราเงินเฟ้อปี 2566 มีแนวโน้มลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนและปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานและราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น

มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ด้านคุณภาพสินเชื่ออาจได้รับแรงกดดันจากความสมารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้า ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง

-ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโน้มสูงขึ้นตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อธุรกิจเริ่มทรงตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าสอดคล้องสกุลเงินภูมิภาคตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.5% ตลอดปี 2567 จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจจะสมดุลมากขึ้นในปี 2567 จากภาคการผลิตที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวตามการส่งออกสินค้าหลังจากหดตัวในปีนี้ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.2% กรณีไม่รวม Digital Wallet และอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวดีทั้งการบริโภคภาคเอกชน (3.2%) และการลงทุนภาคเอกชน (3.6%) อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ที่ 2.0% กรณีไม่รวม Digital Wallet หรืออยู่ที่ 2.2% กรณีรวม Digital Wallet สะท้อนถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังเป็นระดับที่เหมาะสมที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real policy rate) เป็นบวก อีกทั้ง กนง. ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ “ในระยะยาว” และช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า”

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*