สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย จับมือจังหวัดสระบุรี  นำทัพภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนผู้ประกอบการ บูรณาการความร่วมมือจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกาศความพร้อมเดินหน้าใช้งานปูนลดโลกร้อนในทุกงานก่อสร้างของจังหวัดเพื่อมีส่วนร่วมสำคัญในความสำเร็จลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เป้าหมาย1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 66
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า การพัฒนาปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดโลกร้อน ได้อย่างมีนัยสำคัญ การลดการเผาหินปูนในกระบวนการผลิต และนำเทคโนโลยีการบดเข้ามาใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. 2594 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ จึงนับเป็นปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีคุณสมบัติใช้แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ได้

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำ Thailand Net Zero Cement and Concrete Roadmap 2050 ร่วมกับสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ Global Cement and Concrete Association (GCCA) ภายใต้ Roadmap ประเมินว่า จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30.3 ล้านตัน CO2 โดยลดลงได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย Thailand NDC และเข้าสู่ Net Zero ในปี  2593 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางระดับโลก

ความร่วมมือดำเนินการจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ นับเป็นกลไกสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จ TCMA มีความยินดียิ่งที่ได้รับเกียรติให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อน รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนผู้ประกอบการที่มาผนึกกำลังร่วมมือกันดำเนินการ ซึ่งหากสามารถลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566  จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญสู่ Thailand’s New Era of Low Carbon Cement และผู้ผลิตพร้อมยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 ในวันที่ 1 มกราคม 2567” ดร. ชนะ กล่าว

ด้านนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่ได้กล่าวต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุม COP 26 ที่จะยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ในปี 2573 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ส่งผลให้ประเทศไทยให้มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดังนั้น จังหวัดสระบุรีจึงได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี จัดให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดสระบุรี เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกขึ้นโดยความร่วมมือสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนผู้ประกอบการ

จากการศึกษาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในจังหวัดสระบุรี ข้อมูลในปี  2558 พบว่าจังหวัดสระบุรีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 27.93 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าโดยกิจกรรมย่อยที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คือ กระบวนการทางอุตสาหกรรม (ร้อยละ 68.32) สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดสระบุรีเนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรม โดยหนึ่งในมาตรการที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเคยมีมา

จังหวัดสระบุรีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาจังหวัดตามแนวทาง BCG เพื่อสร้างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมุ่งมั่นดำเนินการตามแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมราชการจังหวัดสระบุรี

ความสำเร็จใดๆ จะเกิดขึ้นได้ จากความร่วมมือดำเนินการอย่างจริงจังของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของจังหวัดสระบุรี ที่จะร่วมเป็นกำลังสำคัญในความสำเร็จของการลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2566 ด้วยการสนับสนุนให้ทุกโครงการก่อสร้างในจังหวัดสระบุรี ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเพื่อช่วยลดโลกร้อน โดยขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้าง ให้ใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เป็นทางเลือกแรก รวมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนและประชาชน มาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อให้ลูกหลานของชาวสระบุรีดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีสืบไปนายผล กล่าว

ทั้งนี้การบูรณาการความร่วมมือดังกล่าว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสระบุรีเข้าร่วม โดยมีดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) นายปริญญา คุ้มสระพรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี นายเจริญชัย เฉลียวเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี นายนพดล ชีวะอิสระกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี นางสาวสถาพร ลิ่มพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสระบุรี นางสาวกาญจน์ชนิษฐา เอกแสงศรี ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี นายศิริชัย ลิ้มเลิศตระกูล ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทสระบุรี นายณัทเศรษฐ์ ถิรวัฒน์ธนกร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระบุรี นายโอภาสเรือนสวัสดิ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย จังหวัดสระบุรี นายธนกฤต อัตถะสมปุณณะ ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี นางสาวไพลิน ดวงสภาพร ผู้แทนพาณิชย์จังหวัดสระบุรี นายสุจินต์ จิ๋วรี ผู้แทนผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสระบุรี นายอินธิเดช เศถียรพันธ์ ผู้แทนประธานหอการค้าจังหวัดสระบุรี เข้าร่วมลงนาม เมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน 2566 หอประชุมจังหวัดสระบุรี ศาลากลางจังหวัดสระบุรี

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*