เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น  มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่เป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี 2563 รัฐบาลก็ได้ประกาศนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมในกลุ่มอื่นๆ ทั้งอากาศยาน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัล ซึ่งการเดินหน้าสนับสนุน EEC ของภาครัฐนั้นยังมีประเด็นน่าสนใจคือการประกาศยกระดับพื้นที่ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศ (Eco System) ที่มีความสมบูรณ์ โดยยกให้จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้เป็นเมืองที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพและ EEC ซึ่งภาครัฐเองก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ Smart City ทั้งรถไฟทางคู่เชื่อมท่าเรือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการมอเตอร์เวย์ และยังมีการตั้งเขตส่งเสริมพิเศษการแพทย์ครบวงจรอีกด้วย
จากนโยบายดังกล่าวยังทำให้ภาคเอกชนเริ่มเข้าไปลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวจากการสนับสนุนของภาครัฐอย่างน่าสนใจ โดยข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าการพัฒนา EEC กำลังเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลถึงโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ให้กลายเป็นพื้นที่รองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

จากการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่ EEC แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกอยู่ในทำเลของมหาวิทยาลัยและการท่องเที่ยว ได้แก่ บางแสน ศรีราชา และพัทยา กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่อยู่ในทำเลของโรงงาน คือ ฉะเชิงเทรา สัตหีบ และระยอง จากการสำรวจพบว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยและการท่องเที่ยวมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะศรีราชา เพราะเป็นพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นถึง 8,000 คน และยังเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษาใหม่ทุกปี จึงทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในศรีราชาค่อนข้างโดดเด่น

จากการสำรวจพบว่าที่อยู่อาศัยในโซนศรีราชานั้น ประเภทคอนโดมิเนียมมีสัดส่วนมากเป็นอันดับหนึ่ง ระดับราคาที่เสนอขายอยู่ที่ 3.5 – 6 ล้านบาท และ 6 – 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ตอบโจทย์นักธุรกิจชาวต่างชาติที่มาทำงานในโรงงานในพื้นที่ EEC รวมถึงกลุ่มพนักงานชาวไทย และกลุ่มผู้ปกครองที่ซื้อให้บุตรหลานที่มาศึกษาเล่าเรียน

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมพื้นที่ศรีราชา พบว่าในด้านของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น อยู่ใกล้ทั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ทั้งสองนิคมฯนี้มีชาวญี่ปุ่นทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก จนทำให้ศรีราชาได้รับการขนานนามว่า “Little Osaka” นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากนโยบายพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส  3 และ 4 อีกทั้ง บมจ.ไทยออยล์ ได้ทำการต่อสัญญาเช่าที่ดินเพื่อลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดไปอีก 30 ปี ซึ่ง บมจ.ไทยออยล์ มีพนักงานถึง 1,200 คน ซึ่งพนักงานเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง ส่วนปัจจัยสนับสนุนจากด้านของสถานศึกษานั้น พบว่าจำนวนนิสิตใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เมื่อปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ในอัตรา 7.5% ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโอกาสในการขยายตัวของดีมานด์ที่ในที่อยู่อาศัยเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียม ทำเลที่ผู้ซื้อให้ความสนใจจะอยู่บนเส้นถนนสุขุมวิท บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตร-ศรีราชา หรือบริเวณโรงงานไทยออยล์ เพราะสะดวกในการเดินทาง โดยมีโครงการที่เปิดขายมากกว่า 10 โครงการและหลายระดับราคาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเปิดตลาดที่อยู่อาศัยในโซน EEC นั้น จะต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า จะทำให้โครงการได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จในการขายได้เร็วขึ้น และหากการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเชื่อว่าจะผลักดันให้ราคาที่ดินและความต้องการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการสร้าง Eco System จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้พื้นที่ EEC เกิดการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนในอนาคต

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*